BMW 525i (E34) DIY
Do it yourself by GRANDFATHER (Assoc.Prof. Boonchat Netisak)

การตรวจเช็คไดชาร์จและเปลี่ยนเรกกุเลเตอร์
BMW E34 เครื่องยนต์ M50

Alternator Inspection & Replace Regulator, M50 Engine BMW
l l MAIN MENU โดย คุณปู่ บุญชัด เนติศักดิ์ l

(D.I.Y. เรื่องที่ 100)

      ทำความรู้จักกับ อัลเตอร์เนเตอร์ และเรกกุเลเตอร์ ของเครื่องยนต์ M50 ใน BMW E34

    อัลเตอร์เนเตอร์ (Alternator) ช่างไทยทั่วไปเรียกกันว่า ไดชาร์จ
    ไดชาร์จ คือ เอาคำว่า ได กับ ชาร์จ มารวมกัน
    ได เป็นคำย่อของ ไดนาโม (Dynamo) หมายถึง ตัวปั่นให้เกิดกระแสไฟฟ้า หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
    ชาร์จ (Charge) หมายถึง การประจุไฟเข้าไปในแบตเตอรี่ อาจเรียกว่าอัดไฟ หรือประจุไฟก็ได้

    ต่อไปนี้ ถ้ากล่าวถึง อัลเตอร์เนเตอร์ หรือ ไดชาร์จ ก็ให้เข้าใจว่ามันคือตัวเดียวกัน

    ไดชาร์จของเครื่อง M50 ทำหน้าที่ปั่นไฟกระแสตรง แรงดัน 14 โวลต์ (14V) จ่ายกระแสสูงสุด 140 แอมแปร์ (140A) ยี่ห้อ BOSCH





    เรกกุเลเตอร์ (Regulator) เป็นชิ้นส่วนภายในของอัลเตอร์เนเตอร์ คนขายอะไหล่เรียก ตัวเรกกุเลเตอร์นี้ ว่า คัตเอาต์ไดชาร์จ
    หน้าที่ของเรกกุเลเตอร์ คือ ควบคุมไฟที่จ่ายออกจากอัลเตอร์เนเตอร์ให้มีแรงดันคงที่ 14V ไม่ว่าจะเร่งเครื่องเร็วแค่ไหน หรือเดินเบา ก็ให้จ่ายไฟออกคงที่ 14V
    ยี่ห้อที่ใช้คือ BOSCH #328 EL14V (อะไหล่ที่ใช้ BOSCH 1 197 311 238 ราคา 1,700 บาท 8/12/2011)





    การตรวจสอบเรกกุเลเตอร์ ที่ตัวเรกกุเลเตอร์มีแปรงถ่าน 2 อัน ให้ตรวจการสึกหรอของแปรงถ่าน ถ้าเหลือความยาวต่ำกว่า 5 ม.ม. คู่มือบอกว่าควรเปลี่ยน





    ทำความเข้าใจคำว่าเรกกุเลเตอร์ (Regulator)

    คำว่าเรกกุเลเตอร์ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเครื่องยนต์ เราอาจได้ยินมาบ่อยๆ ทั้งในเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่องแก๊ส LPG-NGV แล้วก็เรื่องไฟฟ้า ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่ามันเป็นตัวเดียวกันหรือเปล่า เพื่อให้พูดจาภาษาที่เข้าใจตรงกัน ได้ความหมายอย่างเดียวกัน ต้องตกลงกันก่อนเป็นเบื้องต้น

    ความหมายของเรกกุเลเตอร์ หมายถึง การควบคุม ตัวควบคุม เครื่องควบคุม หรือการปรับ การควบคุมให้ได้ตามมาตรฐานที่ต้องการ ซึ่งเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ภาษาอังกฤษต้องใส่สำเนียงแบบ ด.จ.ร.นิดหน่อย regulator (เรก'กิวเลเทอะ) ลองอ่านออกเสียงดูนะครับ
    (คำเตือน อย่าไปส่งสำเนียง ด.จ.ร. เรก'กิวเลเทอะ ใส่ช่างตามอู่นะครับ เดี๋ยวจะโดนฟัน แบบหมอไม่รับเย็บ ... 55 erk..)

    ในเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง เรกกุเลเตอร์ หมายถึง ตัวควบคุมแรงดันน้ำมันในรางหัวฉีด ให้มีแรงดันคงที่ตามค่าที่หัวฉีดต้องการ อาจเรียกว่าตัวกักแรงดันน้ำมันก็ได้ ในเครื่องยนต์ M50 เรกกุเลเตอร์ต้องควบคุมแรงดันที่ปั๊มส่งมาให้ได้ 3.5 บาร์ แรงดันน้ำมันส่วนเกินจะไหลกลับเข้าถังน้ำมัน ตัวเรกกุเลเตอร์ของน้ำมันเชื้อเพลิง มีส่วนประกอบและโครงสร้างเป็นกลไก

    ในเรื่องแก๊สเชื้อเพลิง เรกกุเลเตอร์ หมายถึง ตัวควบคุมแรงดันออกของแก๊สที่ส่งออกไปเข้าท่อไอดีของเครื่องยนต์ให้มีค่าแรงดันได้มาตรฐานตามที่เครื่องยนต์ต้องการ แรงดันแก๊สจะถูกเพิ่มลดอย่างเหมาะสมตามค่าแรงดูดของกระบอกสูบ หรืออาจพูดได้ว่าแรงดันแก๊สปรับได้อัตโนมัติตามค่าสุญญากาศในท่อไอดี ตัวเรกกุเลเตอร์ของแก๊สเชื้อเพลิง มีส่วนประกอบและโครงสร้างเป็นกลไก ซึ่งอาจสร้างตัวปรับตั้งระดับแรงดันแบบแมนนวลไว้ด้วย

    ในเรื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เรกกุเลเตอร์ หมายถึงตัวควบคุมแรงดันไฟฟ้าที่นำออกไปใช้งานให้มีค่าแรงดันคงที่ตามที่โหลดต้องการ โครงสร้างส่วนประกอบของเรกกุเลเตอร์เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทรานซิสเตอร์ ไอซี ไดโอด ตัวต้านทาน รวมถึงไอซีเรกกุเลเตอร์สำเร็จรูปที่มีค่าแรงดันคงที่และปรับค่าได้ รูปร่างและการใช้งานของเรกกุเลเตอร์ถูออกแบบให้เหมาะสมกับงานที่นำไปใช้

    เรกกุเลเตอร์ในไดชาร์จ สมัยก่อนเป็นกลไกแบบรีเลย์ คือมีขดลวดและหน้าคอนแทกต์ ช่างทั่วไปเรียกว่าคัตเอาต์ไดชาร์จ จะทำหน้าที่ควบคุมการชาร์จไฟที่ไดนาโมปั่นออกมาให้เข้าชาร์จในแบตเตอรี่ ถ้าเครื่องยนต์ปั่นไดในรอบเดินเบาได้แรงดันต่ำ คัตเอาต์จะตัดไฟ ยังไม่ชาร์จเข้าแบตเตอรี่ แต่เมื่อเร่งเครื่องหรือวิ่งความเร็วสูง ปั่นไฟได้แรงดันสูงคัตเอาต์จะต่อไฟเข้าชาร์จในแบตเตอรี่

    สมัยปัจจุบัน เรกกุเลเตอร์เป็นไอซีสำเร็จรูปที่ออกแบบมาใช้กับอัลเตอร์เนเตอร์หรือไดชาร์จแต่ละรุ่นเป็นการเฉพาะ โดยทำเป็นชิ้นส่วนอันหนึ่งของไดชาร์จ มีแปรงถ่านและจุดสัมผัส เมื่อขันสกรูเข้าที่จุดสัมผัสแต่ละจุดจะต่อวงจรเข้าที่ไดชาร์จ การจ่ายไฟออกมาด้วยค่าคงที่ เช่น 14 โวลต์ ไม่ว่าความเร็วเครื่องยนต์จะเดินเบาหรือเร่ง ไฟที่ออกจากไดชาร์จจะจ่ายออกใช้งานและชาร์จเข้าแบตเตอรี่ตลอดเวลาด้วยแรงดันคงที่ 14 โวลต์เสมอ

    เมื่อติดเครื่องยนต์ ไดชาร์จที่ดีควรจะปั่นไฟออกมา 14 โวลต์ (ตามค่าของเรกกุเลเตอร์) เพื่อส่งให้เครื่องใช้ไฟฟ้าในรถพร้อมกับชาร์จเข้าแบตเตอรี่ด้วย
    - ถ้าเรกกุเลเตอร์เสีย อาจอาจไฟไม่ออก จ่ายไฟออกมาแรงดันผิดไปมาก เช่น แรงดันสูง หรือ ต่ำกว่า 14 โวลต์ ไปมาก
    - จ่ายแรงดันออกสูงเกินไป อาจทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ในรถเสียหายได้
    - หรือถ้าจ่ายแรงดันออกต่ำเกินไป จะทำให้ไฟไม่พอ ไม่สามารถชาร์จเข้าแบตเตอรี่ได้ การทำงานของเครื่องยนต์จะมีปัญหา

    ดังนั้น จึงควรดูแลให้ตัวไดชาร์จทำงานได้อย่างสมบูรณ์อยู่เสมอ



    ลองติดตามอ่าน DIY เพจนี้ดู ได้ลงรูปและเนื้อหาไว้อย่างละเอียดแล้ว



   No problem, We can do, Please continue ............ this DIY.
   [upLoad on 1/06/2012]



ขั้นตอนการถอดไดชาร์จและเปลี่ยนเรกกุเลเตอร์


คำแนะนำ ควรทำขณะที่เครื่องยนต์ไม่ร้อน


  • ทำการเคลียร์ เปิดทางสะดวก ถอดชิ้นส่วนบางตัวออก เพื่อให้เข้าถึงตัวไดชาร์จ หรืออัลเตอร์เนเตอร์ โดย
    - ถอดกระบังลมหม้อน้ำ
    - ถอดพัดลมและฟรีปั๊ม
    - ถอดตัวเรือนไส้กรองอากาศ
    - ถอดท่ออากาศระบายความร้อนของไดชาร์จ
    - ถอดสายพาน
  • ถอดสายกราวด์ของแบตเตอรี่ (ขั้วลบ) เพื่อป้องกันไฟชอร์ต
  • ถอดโบลต์ที่ยึดตัวไดชาร์จ ด้วยประแจเบอร์ #16 ม.ม.
    - มีโบลต์ 2 ตัว ยึดไดชาร์จ ตัวบนอยู่กับลูกรอก ถอดออกมาทั้งลูกรอก
    - โบลต์ตัวล่าง #16 ม.ม. ให้ถอดเอาตัวโบลต์ออกมา มีแหวนรอง 1 ตัว
  • เมื่อถอดโบลต์แล้ว ดึงตัวไดชาร์จให้ขยับออกมาจากฐาน ตอนนี้ยังติดสายไฟออกมาไม่ได้
  • เปิดยางครอบขั้วไฟฟ้าหลังไดชาร์จ จะเห็นสายไฟ 2 เส้น เส้นใหญ่กับเส้นเล็ก
  • ขั้ว B+ น๊อตตัวใหญ่ #13 และขั้ว D+ น๊อตตัวเล็ก #10 ใช้ประแจบ๊อกถอดน๊อตทั้งสองตัวนี้ ถอดแล้วอย่าเอาไปปนกับน๊อตอื่น มันเป็นน๊อตพิเศษที่ใช้ขันขั้วไดชาร์จ มันให้กระแสไฟผ่านได้ดีกว่าน๊อตทั่วไป
  • สังเกตดูที่สายไฟและขั้วไฟ มีสีเขียวของออกไซด์ เป็นสัญญาณว่ารอยต่อไม่ค่อยสมบูรณ์ การเดินของกระแสไฟอาจไม่สะดวกเท่าที่ควร
  • น๊อตที่ถอดออกมามีขี้เกลือขึ้น ต้องทำความสะอาด
  • เอาหางปลาขั้วสายไฟออก แล้วเอาสายไฟและครอบยางออก
  • ยกตัวไดชาร์จออกมาวางในที่ปลอดภัย
  • ในห้องเครื่องโล่งแล้ว เราควรถือโอกาสตรวจชิ้นส่วนต่างๆ ที่เข้าถึงยาก
  • สายไฟไดชาร์จเส้นใหญ่ สภาพตามที่เห็น ฉนวนเสื่อมผุแตก หลุดล่อนออก เห็นทองแดงเป็นออกไซด์สีเขียว
  • พอขยับสายแรงหน่อย มันขยายลุกลาม ฉนวนหลุดเพิ่มขึ้น
  • สายเส้นนี้สำคัญกระแสไฟผ่านมาก เป็นงานที่ต้องซ่อมด้วย แต่จะยังไม่ลงรายละเอียด ไว้โอกาสต่อไปจึงจะเขียน
  • ต่อไปเรามาดูที่ตัวไดชาร์จ
  • ด้านหน้ามีพุลเล่ย์ร่องสายพาน
  • ด้านหลังมีครอบและท่อกลมนั้นเพื่อรับอากาศเข้าระบายความร้อน
  • ที่ตัวไดชาร์จ (อัลเตอร์เนเตอร์) ขณะที่มันทำงานเคยใช้เลเซอร์ยิงดู มันร้อนมาก ถึง 99.8 องศา C
  • การที่มีท่อรับอากาศเข้ามาระบายความร้อนจึงจำเป็น
  • แผ่นแนมเพลตบอกรุ่น 140
  • แรงดันออก 14 โวลต์ (14V)
  • กระแส 45 - 140 แอมแปร์ (45 - 140 A)
  • ผลิตเมื่อสัปดาห์ที่ 22 ปี 1995
  • แผ่นแนมเพลตบอกยี่ห้อ BOSCH ผลิตใน เกรสบริเตน หรืออังกฤษ
  • ความจริงผลิตในประเทศไทย มีสติกเกอร์ติดไว้ชัดเจน
  • โดย นิปปอนเดนโซ ประเทศไทย บ้านเราเอง ... น๊อ
  • ขั้นต่อไป ถอดฉนวนครอบขั้วไฟออก (B+ และ D+)
  • ตรงขั้ว D+ มีน๊อตตัวหนึ่ง ที่แคบ ให้ใช้คีมหมุนขยับน๊อตให้เคลื่อนตัวเล็กน้อยก่อน
  • หลังจากนั้นใช้ไขควงเขี่ยให้น๊อตหมุนออกมา
  • ถอดพลาสติกฝาครอบสีดำ ที่เป็นท่อระบายอากาศ มีสกรูหัวแฉกที่ที่ด้านข้าง 1 ตัว
  • และมีน๊อตแบบมีปีกยึดอีก 2 ตัว #8 ม.ม. ไขน๊อตออก แล้วเอาฝาครอบออก
  • ถอดฝาครอบออกแล้ว เห็นชิ้นส่วนภายใน มีฝุ่นจับอยู่
  • ใช้ลมเป่าฝุ่นออก ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดโดยทั่วไปเท่าที่เช็ดได้
  • ถอดตัวเรกุเลเตอร์ ใช้ไขควงหัวแฉก ไขสกรูออก 2 ตัว
  • ถอดตัวเรกกุเลเตอร์ออกมาตรวจแปรงถ่าน
  • วัดความยาวแปรงถ่าน สั้นกว่า 5 ม.ม. หรือยัง (แปรงถ่านนี้ตามสภาพยังไม่เสีย ยังสามารถใช้ได้ไปอีกระยะหนึ่ง)
  • ทำความสะอาดตามซอกหลืบต่างๆ ใช้ลมเป่า
  • ตรวจหน้าสัมผัสทางไฟฟ้า และตรวจจุดสัมผัสแปรงถ่านที่แกนไดชาร์จ
  • ลองหมุน เพื่อตรวจการหลวมและฟังเสียงผิดปกติ
  • ตัวไดชาร์จพร้อมรับการติดตั้งเรกกุเลเตอร์
  • ตัวเรกกุเลเตอร์ (คัตเอาต์ไดชาร์จ) ซื้อมาใหม่ 1 ตัว ยี่ห้อ BOSCH #238 EL 14V


    (อะไหล่ที่ใช้ BOSCH 1 197 311 238 ราคา 1,700 บาท ซื้อเมื่อ 8/12/2011)
  • เปิดล่องออกดู มีตัวสีดำเหมือนจานบิน หรือเหมือนหมวก ก็ว่ากันไป มีแปรงถ่าน 2 อัน
  • หมวกสีดำนี้ คือไอซีเรกกุเลเตอร์ (Regulated IC) ที่จะควบคุมแรงดันออกให้คงที่ 14 V สร้างขึ้นมาสำหรับควบคุมไฟในไดชาร์จโดยเฉพาะ
  • ด้านที่เห็นนี้คือแปรงถ่าน ที่เมื่อใช้งานไปนานเข้ามันจะสึก เหลือสั้นลง
  • ความยาวแปรงถ่าน ของใหม่ วัดได้ 10 ม.ม.
  • เทียบเรกกุเลเตอร์ ตัวเก่ากับตัวใหม่ เบอร์เดียวกัน
  • ดูอีกด้านหนึ่ง ด้านข้างเทียบกัน
  • เตรียมการติดตั้ง
  • วางตัวเรกกุเลเตอร์ตรงตำแหน่งเดิม ดันให้แปรงถ่านเข้าไปชิดแกน
  • ดูขั้วไฟทุกขั้วสัมผัสตรงจุดที่ถูกต้อง จึงใช้สกรูขันยึดให้แน่น
  • ตรวจความเรียบร้อย ดูจุดสัมผัสขั้วไฟฟ้าเข้าที่ทุกจุด
  • ลองหมุนพุลเล่ย์ดูการสัมผัสของแปรงถ่านกับแกน
  • ติดตั้งตัวเรกกุเลเตอร์เข้าที่ดีแล้ว
  • ใส่ครอบด้านหลัง ไม่ต้องขันน๊อตแน่นมาก
  • น๊อตที่ใช้แบบมีปีก คือเป็นแหวนในตัว ถ้าขันแน่นมาก ตอนถอดคราวหน้าลำบากแน่นอน เพราะจะขันออกยากมาก
  • ปรับตั้งน๊อตยึดขั้วไฟ (D+) ให้อยู่ระดับพอดี เพื่อรองรับการขันขั้วสายไฟ
  • ประกอบฉนวนครอบขั้วไฟ (B+ และ D+)
  • เมื่อใส่น๊อตครบทุกตัวแล้ว ยกไดชาร์จประกอบกลับเข้าที่เครื่องยนต์ตามเดิม
  • โดยต่อสายไฟเข้าที่หลังไดชาร์จ (อาจเรียกว่าตูดไดชาร์จ) ให้เรียบร้อยก่อน จึงใส่และขันโบลต์ยึด
  • ใส่ชิ้นส่วนต่างที่ถอดออกจนสมบูรณ์
  • ต่อสายกราวด์แบตเตอรี่ ทดลองติดเครื่องยนต์
  • ทดลองเปิดปิดไฟหน้า เปิดปิดเครื่องปรับอากาศ พร้อมกับการวัดไฟดูว่ากี่โวลต์


    1. ผลการวัดแรงดัน

      ใช้มิเตอร์ดิจิตอล ยี่ห้อ FLUKE 79 Series II ตัวเก่าๆ รุ่นใกล้เคียงกับรถ ใช้สายลบคีบไว้ที่กราวด์ สายบวกคีบไว้ที่ขั้วบวก ของจุดพ่วงแบตเตอรี่ในห้องเครื่องยนต์ แบตเตอรี่สภาพปกติ ติดเครื่องยนต์เดินเบาอุ่นเครื่องไว้ให้เครื่องร้อนประมาณ 10 นาที แล้วจึงทำการอ่านและบันทึกค่าแรงดัน

      1. ปิดไฟหน้ารถ ปิดแอร์ ปิดวิทยุ ขณะเดินเบา 14.26 V เดินเบาแล้วเร่งเครื่อง 3000 RPM. แรงดันไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงที่ 14.26 V

      2. เปิดไฟหน้ารถ เปิดแอร์ เปิดวิทยุ ขณะเดินเบา 14.02 V เดินเบาแล้วเร่งเครื่อง 3000 RPM. แรงดันไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงที่ 14.02 V




      งานที่ต้องซ่อมต่อเนื่องในโอกาสต่อไป



      1. สายไฟเส้นใหญ่ เส้นเล็ก ขั้วหางปลาต่อสายไฟ สองตัวนี้เข้าคิวซ่อม ซึ่งสายไฟจะเข้าถึงยาก ต้องถอดอุปกรณ์เพื่อเบิกทางหลายชิ้น

      2. สายไฟที่เห็นน่ากลัวนั้น ตอนนี้ทำการซ่อมชั่วคราวไว้ก่อน โดยทำควมสะอาดออกไซด์ที่ขั้วไฟ และใช้เทปแบบละลายของ 3M พันหุ้มเป็นฉนวนรอบสายไฟ ซึ่งก็คิดว่าปลอดภัยดี เพราะสายไฟมีท่อสวมไว้อีกที่ชั้นนอก




    ขอให้ทุกท่านโชคดี ...........ขับขี่รถ ปลอดภัย ทุกสถานการณ์
    มีความสุข ในชีวิต และ ในการ D.I.Y. BMW E34 นะครับ





    Homepage of GRANDFATHER : Assoc.Prof.BOONCHAT NETISAK
    Copyright © by BOONCHAT NETISAK, All Rights Reserved.


    [ BMW E34 DIY MAIN MENU ]