BMW 525i (E34) DIY
Do it yourself by GRANDFATHER (Assoc.Prof. Boonchat Netisak)

การตรวจเช็คพัดลมไฟฟ้า BMW E34
Electric Fan Checking.
l l MAIN MENU โดย คุณปู่ บุญชัด เนติศักดิ์ l

      ทำความรู้จักกับพัดลมไฟฟ้าของ BMW E34

    ก่อนที่จะตรวจเช็คพัดลมไฟฟ้า BMW E34 เรามาทำความรู้จักกับพัดลมไฟฟ้าของ BMW E34 สักเล็กน้อย เพื่อที่จะได้เข้าใจต่อส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง อันจะทำให้การตรวจเช็คและวิเคราะห์อาการได้อย่างถูกทาง



    พัดลมไฟฟ้าของ BMW E34 ติดตั้งอยู่หน้ารถ หน้าแผงคอนเดนเซอร์แอร์ หน้าที่เป็นพัดลมเสริมสำหรับระบายความร้อนของคอนเดนเซอร์แอร์ ปกติจะทำงานทันที (หมุน) ที่เราเปิดแอร์และคอมเพรสเซอร์แอร์ทำงาน และจะหยุดหมุนเมื่อคอมเพรสเซอร์แอร์ตัด พัดลมไฟฟ้าจึงทำงานสลับกับหยุด ไม่ทำงานตลอดเวลา

    นอกจากการระบายความร้อนของคอนเดนเซอร์แอร์แล้ว อุณหภูมิของหม้อน้ำระบายความร้อนของเครื่องยนต์ก็มีความสำคัญ ปกติพัดลมหน้าเครื่อง (หลังหม้อน้ำ) ที่ขับโดยสายพาน จะเป็นตัวระบายความร้อนอยู่แล้ว แต่หากน้ำในหม้อน้ำมีอุณหภูมิสูงเกิน 91 องศาซี จะมีรีเลย์ต่อไฟเข้าพัดลมไฟฟ้าให้หมุนช่วยระบายความร้อนเพิ่มในสปีดช้า (Low - Normal Speed) แต่ถ้าอุณหภูมิของหม้อน้ำยังเพิ่มขึ้นจนเกิน 99 องศาซี พัดลมก็จะถูกต่อให้เร่งความเร็วสูงมาก (High Speed) เพื่อระบายความร้อนเพิ่ม การทำงานเป็นไปโดยอัตโนมัติ ควบคุมโดยสวิตช์อุณหภูมิ

    เงื่อนไขการหมุนของพัดลมไฟฟ้า จึงขึ้นอยู่กับ 1) การทำงานของระบบปรับอากาศ หรือ 2) อุณหภูมิของน้ำในหม้อน้ำ



    การหมุนของพัดลมไฟฟ้าของ BMW E34 ความเร็วในการหมุนของพัดลมไฟฟ้า มี 2 สปีด
    1. สปีดโล (Low or Normal Speed) เป็นความเร็วปกติ โดยทั่วไปก็จะหมุนที่สปีดนี้ อุปกรณ์ที่ทำให้พัดลมหมุนในสปีดโล คือตัวต้านทาน หรือตัวอาร์ (R = Resistor)
    2. สปีดไฮ (High Speed) เป็นความเร็วสูงมาก ที่สปีดนี้ในภาวะปกติพัดลมจะไม่มีโอกาสหมุนในสปีดนี้เลย แต่ก็อาจพบได้ เช่น กรณีอากาศร้อนมาก หรือระบบระบายความร้อนเครื่องยนต์บกพร่อง จนทำให้น้ำในหม้อน้ำมีอุณหภูมิเกิน 99 องศาขึ้นไป หรือระบบปรับอากาศบกพร่อง มีความดันน้ำยาสูงเกิน 18 bar (261 psi)



    วงจรควบคุมพัดลมไฟฟ้าของ BMW E34 ดังรูปด้านบน ปู่ได้เขียนแบบลายมือ แสดงให้เห็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อความเข้าใจในภาพรวม ประกอบด้วยอุปกรณ์สำคัญ คือ

    1. ตัวมอเตอร์พัดลม (Electric Fan)
    2. ตัวอาร์ R ควบคุมสปีดโล
    3. ฟิวส์ หมายเลข F25 (30 A) ต่อรับไฟจากแบตเตอรี่ จ่ายให้พัดลมทั้ง 2 สปีด ผ่านหน้าคอนแท็กซ์ของรีเลย์
    4. ฟิวส์หมายเลข F29 (7.5 A) ต่อรับไฟจากสวิตช์กุญแจ เพื่อความคุมขดลวดของรีเลย์
    5. ตัวรีเลย์ สปีดโล K1 (Low Speed Relay 5 ขา)
    6. ตัวรีเลย์ สปีดไฮ K2 (High Speed Relay 4 ขา)
    7. สวิตช์อุณหภูมิหม้อน้ำ (Temp Switch 91 / 99 องศาซี) รับรู้อุณหภูมิน้ำในหม้อน้ำ (91/99 องศา) แล้วต่อไฟที่ขดลวดของรีเลย์ลงกราวด์ ทำให้ไฟครบวงจร คอนแทกต์ของรีเลย์ตัวที่ครบวงจรจะจ่ายไฟให้พัดลมหมุน
    8. ECU (Air-Con) ควบคุมพัดลมให้หมุนในสปีดโลตามการเปิดปิดแอร์ โดยต่อขา 86b ลงกราวด์ และต่อสปีดไฮเมื่อแรงดันน้ำยาแอร์สูงเกิน 18 bar (261 psi)




    ข้อตกลงเบื้องต้น
    สปีดโล , สปีดโลว์ , สปีดช้า , สปีดปกติ , Lo Speed , Low Speed , Normal Speed คือ อย่างเดียวกัน
    สปีดไฮ , สปีดเร็ว , Hi-Speed , High Speed คือ อย่างเดียวกัน


    ลองติดตามอ่าน DIY เพจนี้ดู ได้ลงรูปและเนื้อหาไว้อย่างละเอียดแล้ว


   No problem, We can do, Please continue ............ this DIY.
   [upLoad on 17/04/2012]



รู้จัก ... ฟิวส์ ที่จ่ายไฟให้พัดลม F25 F29


  • ที่กล่องฟิวส์ในห้องเครื่องยนต์ มีฟิวส์ที่จ่ายให้พัดลมไฟฟ้าอยู่ 2 ตัว คือ หมายเลข 25 กับ หมายเลข 29
  • ดูตำแหน่งของฟิวส์ตามลูกศรชี้
  • ฟิวส์หมายเลข 25 ตัวสีเขียว 30 แอมป์ มีไฟ +12 V ตลอดเวลา เพราะต่อกับแบตเตอรี่โดยตรง
  • ฟิวส์หมายเลข 29 ตัวสีน้ำตาว 7.5 แอมป์ มีไฟ +12 V ผ่านสวิตช์กุญแจ
  • ในภาพ แสดงฟิวส์ No.29 ขาด (Open) จะไม่มีไฟเข้าขดลวดรีเลย์ พัดลมจะไม่หมุนทุกสปีด และระบบแอร์ไม่ทำงาน
  • การเปลี่ยน ใช้ฟิวส์ 7.5 A ตัวใหม่เปลี่ยนแทน
  • ในภาพ แสดงฟิวส์ No.25 ขาด ทำให้ไม่มีไฟเข้าขา 30 ของรีเลย์ แม้คอนแทกต์ของรีเลย์จะต่อ ก็ไม่มีไฟไปยังพัดลม พัดลมจึงไม่หมุนทั้งสปีดโลและสปีดไฮ
  • จำเป็นต้องเปลี่ยน โดยใช้ฟิวส์ 30 A ตัวใหม่ใส่แทน

    กรณีเปลี่ยนฟิวส์ใหม่ ถ้าพัดลมหมุนได้ปกติ ฟิวส์ไม่ขาด ก็ไม่ต้องซ่อมอะไร

    แต่ถ้าเปลี่ยนฟิวส์ใหม่แล้ว พอทำงานฟิวส์ตัวใหม่ขาดอีก แบบนี้แสดงว่ามีการลัดวงจร ต้องหาจุดเสียให้พบ และแก้ไขก่อนจึงจะใส่ฟิวส์ใหม่เข้าไปได้

    สาเหตุของฟิวส์ขาด อาจเกิดจาก สายไฟลัดลงจร ขดลวดมอเตอร์ชอร์ต หรือมอเตอร์ฝืด หมุนไม่ได้ เสียงดัง หมุนไม่คล่อง กินกระแสมากเกิน ขาเสียบฟิวส์สกปรก ไฟเดินไม่สะดวก ขาเสียบฟิวส์ร้อน ฟิวส์ละลาย เป็นต้น


  • รู้จัก ... รีเลย์ สปีดโล และสปีดไฮ


  • มีรีเลย์ที่ใช้ควบคุมพัดลมไฟฟ้าอยู่ 2 ตัว บรรจุไว้ในกล่อง ตัวสีเหลือง กับตัวสีเขียว
  • ตัวสีเหลือง เป็นรีเลย์ควบคุมสปีดโล
  • ตัวสีเขียว เป็นรีเลย์ควบคุมสปีดไฮ

    (สายไฟสีแดงที่เห็นอยู่ในกล่อง เป็นการต่อเพิ่มในระบบแก๊ส มีเฉพาะของผู้เขียน ท่านผู้อ่านไม่ต้องสนใจ)
  • รีเลย์ควบคุมสปีดโล ตัวสีเหลือง ถอดออกมาดู บนตัวมันมีเลข 245 ไม่ได้สังเกตว่าเคยตรงกับเลขท้ายสามตัวของใต้ดินบนดินหรือไม่
  • เบื้องแรก ตรวจดูขา ควรสะอาดจึงจะทำให้ไฟเดินได้สะดวก
  • นับขาของรีเลย์ได้ 5 ขา
  • ที่ด้านข้างตัวรีเลย์ควบคุมสปีดโล ตัวสีเหลืองนี้ มีวงจรติดไว้
  • ขา 30 กับ ขา 87 เป็นคอนแทกต์ ไฟ +12V จะป้อนเข้าที่ขา 30 เมื่อคอนแทกต์ต่อ ไฟจะออกที่ขา 87
  • ขา 85 เป็นขารับไฟ +12V เข้าขดลวด (coil) ขา 86 และ ขา 86b (มีไดโอด) เป็นการที่จะต่อลงกราวด์ผ่านอุปกรณ์ควบคุม
  • แสดงตำแหน่งขาของรีเลย์ควบคุมสปีดโล แต่ละขามีหมายเลขกำกับ
  • ขาคอนแท็กต์ 30 - 87
  • ขาคอยล์ 85 - 86 86b (ขา 86b อยู่ตรงกลาง)
  • รีเลย์ควบคุมสปีดไฮ ตัวสีเขียว
  • รีเลย์ควบคุมสปีดไฮ มี 4 ขา
  • ขาคอนแท็กต์ 30 - 87
  • ขาคอยล์ 85 - 86
  • ตำแหน่งขาของรีเลย์ควบคุมสปีดไฮ (ตรงกลาง ว่าง)
  • ซอกเก็ต (Socket) ที่ใช้เสียบขารีเลย์ สามารถถอดออกมา โดยการแงะบีบเขี้ยวที่ล๊อก (ตรงที่วงไว้) แล้วดึงตัวซอกเก็ตขึ้น
  • การถอดซอกเก็ตออกมา เราสามารถตรวจสภาพสายไฟ ตรวจรอยไหม้ และทำให้พิสูจน์ตำแหน่งขาได้อย่างมั่นใจ


  • รู้จัก ... สวิตช์อุณหภูมิหม้อน้ำ


  • สวิตช์อุณหภูมิหม้อน้ำ อาจเรียกว่า เซนเซอร์อุณหภูมิหม้อน้ำ ก็พอจะสื่อสารกันรู้เรื่อง
  • เพื่อเข้าถึงสวิตช์อุณหภูมิหม้อน้ำ เราต้องถอดแผ่นพลาสติกที่ปิดหลังไฟหน้าด้านขวาออก
  • จะพบตัวสวิตช์อุณหภูมิที่ด้านข้างหม้อน้ำ มันจะทำหน้าที่รับรู้ว่าน้ำในหม้อน้ำร้อนมากเพียงใด
  • ภายในสวิตช์อุณหภูมิตัวนี้ จะมีหน้าคอนแทกต์สองชุด (มีสวิตช์ 2 ตัว) เพื่อใช้ควบคุมสปีดพัดลม 2 สปีด คือ สปีดโล กับสปีดไฮ
  • เมื่อน้ำร้อนถึง 91 องศา ขึ้นไป จะต่อสปีดโล
  • เมื่อน้ำร้อนถึง 99 องศา ขึ้นไป จะต่อสปีดไฮ
  • การควบคุมจะไม่ควบคุมพัดลมโดยตรง แต่จะไปควบคุมรีเลย์ให้จ่ายกระแสไฟให้พัดลมอีกทีหนึ่ง โดยใช้รีเลย์ 2 ตัว สปีดละตัว
  • เมื่อถอดปลั๊กของสวิตช์อุณหภูมิออกมาดู จะเห็นว่ามี 3 ขา (รู) เป็นตัวเมีย
  • ที่ตัวสวิตช์ที่ติดกับหม้อน้ำจะรับรู้อุณหภูมิที่หม้อน้ำ มี 3 ขา เป็นตัวผู้ (รอไว้ให้ปลั๊กตัวเมียมาเสียบ)
  • สายไฟที่ปลั๊กมี 3 เส้น
    สายสีน้ำตาล คือ กราวด์
    สายสีม่วง / เขียว คือ สปีดโล
    สายสีดำ / เทา / เหลือง คือ สปีดไฮ
  • วงจรไฟฟ้าของตัวสวิตช์อุณหภูมิหม้อน้ำ ดูในกรอบสีเขียว
  • ขา 1 คือกราวด์ ต่อไว้กับตัวถังรถโดยตรง
  • ขา 2 จะต่อกับกราวด์เมื่ออุณหภูมิ 91 องศา ขึ้นไป เป็นสปีดโลว์
  • ขา 3 จะต่อกับกราวด์เมื่ออุณหภูมิ 99 องศา ขึ้นไป เป็นสปีดไฮ

  • เตรียม ... สายจั๊มเปอร์


  • เตรียมสายไฟจั๊มเปอร์ 1 เส้น ตามรูป ใช้สายไฟยาวประมาณ 15-20 ซ.ม. ปอกฉนวนหัวท้าย ให้ทองแดงโผล่ประมาณ 1 ซ.ม. จั๊มเปอร์เส้นนี้จะใช้สำหรับทดสอบการหมุนของพัดลมที่สวิตช์อุณหภูมิหม้อน้ำ จั๊มเปอร์เส้นนี้ใช้สายไฟเส้นเล็กก็ได้ เพราะมีกระแสผ่านไม่มากตอนทดสอบ
  • อีกเส้นหนึ่งทำสายจั๊มเปอร์แบบนี้ ใช้สายไฟเส้นใหญ่ 2.5 ม.ม. ใส่หัวเสียบ จะรองรับให้กระแสไฟผ่านได้มาก ไม่ร้อน เส้นนี้จะใช้เสียบทดสอบที่ขาของซอกเก็ตรีเลย์
  • ถ้าไม่ทำแบบนี้ จะทำแบบง่ายๆ ใช้สายไฟมาปอกฉนวนหัวท้ายก็ได้ แต่ควรใช้สายไฟเส้นโตหน่อย และขณะเสียบต้องกดให้แน่น

  • ตรวจการหมุนของพัดลม โดยการจั๊มสายที่สวิตช์อุณหภูมิหม้อน้ำ


  • ก่อนอื่นต้องเปิดทางเพื่อเข้าถึงตัวสวิตช์อุณหภูมิที่ด้านข้างหม้อน้ำ
  • ถอดปลั๊กของสวิตช์อุณหภูมิ สังเกตตำแหน่งขาทั้งสาม
  • สายไฟที่ปลั๊กมี 3 เส้น สายสีน้ำตาลคือกราวด์ สายสีม่วง/เขียว คือสปีดโลว์ สายสีดำ/ เทา/เหลือง คือสปีดไฮ
  • เตรียมสายไฟจั๊มเปอร์ 1 เส้น ตามรูป เราจะทดลองพัดลมไฟฟ้าหน้ารถ ว่า มันหมุนหรือเปล่า
  • ตรวจสปีดโลว์ เปิดสวิตช์กุญแจไว้ที่ตำแหน่ง ON ก่อนสตาร์ท
  • ใช้สายจั๊มเปอร์เสียบระหว่างขา 1 - 2 ตามรูป ควรจะได้ยินเสียงรีเลย์ต่อ แล้วพัดลมหมุนในสปีดโลว์ หมุนแบบนิ่มๆ
  • ตรวจสปีดไฮ เปิดสวิตช์กุญแจไว้ที่ตำแหน่ง ON ก่อนสตาร์ท
  • ใช้สายจั๊มเปอร์เสียบระหว่างขา 1 - 3 ตามรูป พัดลมต้องหมุนสปีดไฮ คือหมุนเร็วมาก

    1. การวิเคราะห์ผลการทดสอบการหมุนของพัดลม กรณีทดสอบการหมุนที่สวิตช์อุณหภูมิ

    2. ถ้าทดสอบแล้วพัดลม หมุน ทั้งสปีดโล และสปีดไฮ แสดงว่า ทุกอย่างในระบบที่ควบคุมพัดลมไฟฟ้าทำงานปกติ
    3. ถ้าทดสอบแล้วพัดลม ไม่หมุน ทั้งสองสปีด ต้องตรวจการจ่ายไฟ ตรวจสอบฟิวส์ 25 - 29 และตรวจสอบสายไฟ ปลั๊กพัดลมและมอเตอร์พัดลม ... ตรวจสายจั๊มเปอร์ที่ใช้ ตรวจปลั๊ก ตรวจสายไฟ และตรวจสายกราวด์ของปลั๊กสวิตช์อุณหภูมิ
    4. ถ้าทดสอบแล้วพัดลมหมุนเฉพาะสปีดโล สปีดไฮไม่หมุน แสดงว่าวงจรสปีดโลดีทั้งหมด (ระบบไฟดี ฟิวส์ 25-29 ดี รีเลย์สปีดโลดี ตัวอาร์ (R) ดี และพัดลมดี) ให้ตรวจวงจรสปีดไฮ เช่น รีเลย์ตัวสีเขียว ตรวจซอกเก็ต และสายไฟ
    5. กรณีที่พัดลมหมุนเฉพาะสปีดไฮ สปีดโลว์ไม่หมุน ต้องตรวจวงจรของสปีดโล คือตัวอาร์ (R) ที่ติดอยู่กับพัดลม ตรวจสอบรีเลย์ที่ควบคุมสปีดโลว์ตัวสีเหลือง ตรวจซอกเก็ตและสายไฟ


    ตรวจการหมุนของพัดลม โดยสายจั๊มสายที่ซอกเก็ตรีเลย์


  • ที่กล่องรีเลย์ควบคุมพัดลม เปิดฝาครอบกล่อง
  • ถอดรีเลย์ออก โดยดึงตัวรีเลย์ขึ้นตรงๆ ให้ขาหลุดออกจากซอกเก็ต
  • ตัวซ้ายสีเขียว เป็นรีเลย์ไฮสปีด ตัวขวาสีเหลืองเป็นรีเลย์โลสปีด
  • แสดงตำแหน่งที่จะใช้สายจั๊มเปอร์เสียบทดสอบ
  • ขยายให้ใหญ่ขึ้น เราจะเสียบสายจั๊มเปอร์ระหว่างขา 30 กับขา 87 ตามแนวเส้นสีชมพู
  • หรือเมื่ออ่านเลขประจำขาด้านบนซอกเก็ต คือ ระหว่าง ขา 2 กับขา 6
  • ถ้าไม่ชัวร์ ก็ต้องแงะซอกเก็ตเพื่อดูข้างใต้ เราจะเสียบจั๊มสายไฟคู่ที่เส้นใหญ่เข้าด้วยกัน
  • อุปกรณ์ที่ต้องใช้ คือสายจั๊มเปอร์ที่เราทำจากการใช้สายไฟเส้นใหญ่ใส่หัวเสียบ ซึ่งจะให้กระแสไฟผ่านได้มาก โดยไม่ร้อน


  • การตรวจ สปีดไฮ


  • ปกติมีไฟพร้อมอยู่ตลอดเวลาที่ซอกเก็ตของรีเลย์แล้ว (ไม่ต้องเปิดสวิตช์กุญแจ)
  • ใช้สายจั๊มเปอร์เสียบระหว่างขา 30 - 87 ของรีเลย์ตัวสีเขียว ตามรูป (ขา 2 กับขา 6 เมื่อ่านเลขที่ซอกเก็ต)
  • พัดลมต้องหมุนสปีดไฮ คือ หมุนเร็วมาก ได้ยินเสียงลมดังมาก

    (ไม่ต้องเสียบนาน เสียบแค่รู้ว่าพัดลมหมุนก็พอ เพราะกระแสไฟไหลเยอะมาก หากใช้สายไฟเส้นเล็ก สายไฟจะร้อนมาก)
  • วิเคราะห์ผลการตรวจ

    ถ้าพัดลมหมุน
  • ถ้าพัดลมหมุนในสปีดไฮ แสดงว่าฟิวส์ No.25 ดี มีไฟมาที่รีเลย์ มีไฟไปเข้าพัดลม และมอเตอร์พัดลมดี พัดลมทำงานได้ จึงหมุนที่สปีดไฮ

    ถ้าพัดลมไม่หมุน
  • ถ้าพัดลมไม่หมุน ต้องตรวจว่ามีไฟมาหรือไม่ โดยตรวจฟิวส์ No.25 ขาดหรือไม่ ตรวจสายไฟ และตรวจขั้วเสียบ ว่าไหม้ มีสนิม ไฟเดินได้หรือไม่ อาจมีอย่างใดอย่างหนึ่งบกพร่อง
  • กรณีไม่มั่นใจว่าขาถูกต้องหรือไม่ ให้ถอดซอกเก็ตออกดู
  • สายไฟใต้ซอกเก็ตของรีเลย์ไฮสปีด สายเส้นใหญ่สีแดงเป็นไฟมาจากฟิวส์ No.25 สายเส้นใหญ่สีน้ำเงินดำเป็นสายไฟไปเข้าพัดลมสปีดไฮ
  • เราต้องจั๊มสายสองเส้นนี้เข้าด้วยกันเพื่อการทดสอบ
  • การตรวจ สปีดโล

  • การตรวจว่ามีไฟไปเข้าพัดลมหรือไม่ (ไม่ต้องเปิดสวิตช์กุญแจ เพราะมีไฟพร้อมอยู่ตลอดเวลาแล้ว)
  • ใช้สายจั๊มเปอร์เสียบระหว่างขา 30 - 87 ของรีเลย์ตัวสีเหลือง ตามรูป (ขา 2 กับขา 6 เมื่อ่านเลขที่ซอกเก็ต)
  • พัดลมต้องหมุนสปีดโล คือหมุนปกติ ช้า นิ่ม เสียงลมไม่ดังมาก
  • วิเคราะห์ผลการตรวจ

    ถ้าพัดลมไม่หมุน ที่สปีดโล (หมุนเฉพาะสปีดไฮ)
  • ถ้าพัดลมไม่หมุน ที่สปีดโล (หมุนเฉพาะสปีดไฮ) ต้องตรวจว่า ตัวต้านทาน R คุมสปีดโล (ขาดหรือไม่) ตรวจสายไฟ และตรวจขั้วเสียบ
  • รายละเอียดสายไฟใต้ซอกเก็ตของรีเลย์สปีดโล การจั๊มสายต้องจั๊มระหว่างสายไฟเส้นใหญ่ทั้งสองเส้น

  • ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับพัดลมไฟฟ้า BMW E34


    1. พัดลมไฟฟ้าของ BMW E34 ควรดูแลให้ทำงานได้อย่างดี ในทั้งสองสปีด การหมุนต้องนิ่มนวล ไม่มีเสียงดังจาการเสียดสี แกนพัดลมต้องไม่หลวมและไม่สั่น

    2. ปกติพัดลมไฟฟ้าจะทำงานที่สปีดโล เพื่อระบายความร้อนของแผงคอนเดนเซอร์แอร์ ถ้าพัดลมหมุนได้ดี การระบายความร้อนจะดี ซึ่งจะได้ความเย็นของแอร์เต็มประสิทธิภาพ

    3. กรณีพัดลมทำงานที่สปีดไฮ อาจมีสาเหตุ เช่น 1) ระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์อาจบกพร่อง รังผึ้งหม้อน้ำอุดตัน ทำให้อุณหภูมิของน้ำในหม้อน้ำสูงเกิน 99 องศา 2) รังผึ้งของแผงคอนเดนเซอร์แอร์อุดตัน ระบายความร้อนไม่ดี ทำให้แรงดันน้ำยาแอร์สูงเกิน 261 psi. ถ้ารังผึ้งอุดตันลมผ่านไม่ได้จะทำให้พัดลมทำงานหนัก กินกระแสมากเกิน และเสียงดัง

    4. สปีดไฮควรเกิดขึ้นตอนที่อากาศภายนอกร้อนมากๆ เช่นเดือนเมษายน หรือรถติดไม่เคลื่อนที่ ถ้าสปีดไฮทำงานบ่อยๆ ควรล้างทำความสะอาดรังผึ้งของแผงแอร์ และหม้อน้ำให้สะอาด และให้ลมทะลุผ่านได้ดี ไม่อุดตัน ควรถ่ายน้ำระบายความร้อน ล้างหม้อน้ำ เติมน้ำยาที่ช่วยระบายความร้อนในน้ำ

    5. พัดลมไฟฟ้าเป็นพระเอก ในการระบายความร้อนของแผงคอนเดนเซอร์แอร์ ส่วนพัดลมหน้าเครื่องยนต์ ที่หมุนโดยสายพาน เป็นพระเอกของการระบายความร้อนของเครื่องยนต์ ผ่านแผงหม้อน้ำหน้าเครื่องยนต์ เราควรดูแลให้อยู่ในสภาพดี ทำงานสมบูรณ์ทั้งสองตัว จึงจะใช้รถได้อย่างมั่นใจ

    6. พัดลมไฟฟ้าใหม่ ไม่จำเป็นต้องซื้อของ OEM ผมใช้ของที่ผลิตจากใต้หวันมาเปลี่ยนแทนตัวเก่าที่เวลาหมุนมีเสียงดัง ปรากฏว่าการหมุนนิ่มมาก เสียงไม่ดัง หมุนคล่องขนาดเราดับเครื่องยนต์ถอดกุญแจออก แล้วเดินลงมาดูที่กระจังหน้า กว่าที่พัดลมจะหยุดหมุนฟรีก็กินเวลาอีกตั้งนาน ราคาของใหม่ ซิงๆ 2500 บาท ผมว่าเปลี่ยนแล้วสบายใจและชัวร์มากๆ ... เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเลือกนะครับ




    ขอให้ทุกท่านโชคดี ...........ขับขี่รถ ปลอดภัย ทุกสถานการณ์
    มีความสุข ในชีวิต และ ในการ D.I.Y. BMW E34 นะครับ





    Homepage of GRANDFATHER : Assoc.Prof.BOONCHAT NETISAK
    Copyright © by BOONCHAT NETISAK, All Rights

    [ BMW E34 DIY MAIN MENU ]