BMW 525i (E34) DIY
Do it yourself by GRANDFATHER (Assoc.Prof. Boonchat Netisak)

กล่องควบคุมเกียร์อัตโนมัติ
BMW E34 Transmission Control Module
l l MAIN MENU โดย คุณปู่ บุญชัด เนติศักดิ์ l

(D.I.Y. เรื่องที่ 103)

      กล่องควบคุมเกียร์อัตโนมัติของ BMW E34

    กล่องควบคุมเกียร์อัตโนมัติของ BMW E34 เราเรียกกันทั่วไปแบบสั้นๆ ว่า กล่องเกียร์
    ที่วงจรไฟฟ้าประจำรถเรียกกล่องนี้ว่า Transmission Control Module และวงเล็บไว้ (EGS)
    อาจเรียกย่อว่า กล่อง TCM หรือกล่อง EGS ก็น่าจะพอสื่อสารกันได้
    แต่เรียกว่า กล่องเกียร์ ง่ายที่สุด


    รูปร่างกล่องควบคุมเกียร์อัตโนมัติของ BMW E34 และวงจรภายใน


    กล่องควบคุมเกียร์อัตโนมัติ ภายในเป็นชิ้นส่วนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วยตัวไมโครโพรเซสเซอร์ ตัวอีพรอม (EPROM) หน่วยความจำ ตัวสวิตช์อิเล็กทรอนิกส์ ทรานซิสเตอร์ ไอซี ตัวต้านทาน ไดโอด ตัวเก็บประจุ และรีเลย์ มีขาต่อกับขั้วต่อสายจำนวน 55 ขา

    การควบคุมการทำงานของเกียร์ มีโปรแกรมที่บรรจุไว้ในหน่วยความจำอีพรอม เจ้าตัวอีพรอมนี้รูปร่างเป็นไอซีตีนตะขาบตัวหนึ่ง บนตัวมันจะมีเทปหรือกระดาษปิดทับไว้ เพื่อป้องกันแสง ห้ามแกะออก เพราะถ้าถูกแสงความจำในตัวมันจะถูกลบ แม้วงจรอื่นๆ จะดีอยู่ ก็ไม่สามารถควบคุมการทำงานของเกียร์ได้อีกต่อไป ซึ่งก็เท่ากับ ... กล่องเกียร์เสีย นั่นเอง

    กล่องเกียร์นี้ปู่ได้เปิดดูแล้ว เห็นภายในแล้ว ให้ความเห็นว่า มีการสร้างอย่างปราณีต ( ... เนี๊ยบ) และใช้อุปกรณ์ชิ้นส่วนภายในอย่างดี คุณภาพสูง ทนทาน แผงวงจรมีการเคลือบกันชื้นอย่างดี ตำแหน่งติดตั้งซ่อนไว้อย่างดี กันน้ำ กันความร้อน กันสาระพัด เข้าถึงยาก ดังนั้นโอกาสเสียของมันน้อยมาก คือมันจะไม่เสียง่าย ๆ

    กรณีเกียร์มีปัญหา ถึงขั้นจะต้องซ่อมกล่องเกียร์จึงน้อยเต็มที ส่วนมากจะอยู่ที่สายไฟ ขั้วต่อที่ตัวเกียร์ใต้รถ และระบบกรองน้ำมันไฮดรอลิกของเกียร์เป็นส่วนใหญ่

    จึงขอเตือนว่า หากจะซ่อมกล่องเกียร์ต้องพิสูจน์อย่างถ่องแท้ ว่าเสียแบบชัวร์ๆ แล้วเท่านั้น จึงจะเปิดกล่องและเปลี่ยนตัวอุปกรณ์ และต้องพิจารณาด้วยว่า ฝีมือบัดกรี ถอดอุปกรณ์ ปราณีตพอไหม อีกทั้งชิ้นส่วนอะไหล่ที่มีขายคุณภาพต่ำกว่าของเดิมที่อยู่ในกล่องอย่างมากมาย

    วัตถุประสงค์ของเพจนี้ ก็คือ เอาสิ่งที่อยู่ในกล่องเกียร์มาให้ท่านทั้งหลายได้เห็น ได้ดูและพิจารณา อย่างใกล้ชิด ชัดเจน สามารถขยายดูได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปรื้อเอง

    สำหรับการซ่อม ภายในกล่องเกียร์นั้น เป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้และทักษะทางไฟฟ้า - อิเล็กทรอนิกส์สูงพอสมควร ควรประเมินศักยภาพของตนเองก่อนตัดสินใจ

    .......... ช่างซ่อมรถยนต์ แค่รู้จัก กล่องเกียร์ รู้ตำแหน่งที่ตั้ง ถอดออกได้ สลับกล่องเป็น ใส่กลับได้ ก็น่าจะพอ ... ทำงานได้แล้วครับ





    ลองติดตามอ่าน DIY เพจนี้ดู ได้ลงรูปและเนื้อหาไว้อย่างละเอียดแล้ว



   No problem, We can do, Please continue ............ this DIY.
   [upLoad on 06/04/2013]



ขั้นตอนการถอด


  • ถอดแผงลำโพงข้างเท้าขวาของคนขับออก มีสายลำโพง 2 เส้นถอดออก
  • ชั้นใน มีแผ่นวัสดุกันเสียงปิดไว้
  • เอาแผ่นวัสดุกันเสียงออก สายไฟที่มัดไว้ แกะให้ยืดได้
  • เริ่มมองเห็นคอนเนกเตอร์และกล่องควบคุมเกียร์ (ควรมีไฟส่องช่วย)
  • ถอดขั้วคอนเนกเตอร์ของกล่องควบคุมเกียร์ โดยดึงโยกโลหะที่ขั้ว
  • เอาตัวขั้วคอนเนกเตอร์ออกมา
  • เป็นคอนเนกเตอร์แบบ 55 ขา ไม่ได้ใช้งานทั้งหมด มีขาว่าง รูโหว่ไว้ ไม่มีขั้วไฟฟ้าข้างใน
  • เราสามารถวัดความต้านทานของอุปกรณ์บางตัวได้ที่คอนเนกเตอร์ เช่นโซลีนอยด์วาล์วทุกตัว ว่าขาดไหม
    (อ่านตำแหน่งขาที่วัดจากวงจร Transmission Electronics หน้า 106-EWD)
  • ขั้นตอนต่อไปนี้ จะถอดออกมาดูเฉยๆ นะครับ อยากเห็นว่าข้างในกล่องมีอะไร
  • ท่านผู้อ่านไม่จำเป็นต้องถอด เพราะกล่องมันจะเสียยากมาก ชิ้นส่วนภายในคุณภาพสูง และซ่อนไว้อย่างดี
  • การถอด ใช้ประแจ เบอร์ 8 ไขโบลต์ 3 ตัว ไม่ต้องให้หลุด แค่หลวมๆ
  • ยกตัว TCM ขยับขึ้นให้โบลต์ลอดช่องแล้วดันไปข้างหลังเล็กน้อย พอหลุดก็เอาตัว TCM ออกมา

    (ประแจที่ใช้ ปู่ซื้อมาราคา 10 บาท ใช้ได้ดี)
  • เอากล่องควบคุมเกียร์อัตโนมัติออกมา
  • ด้านบนของกล่องควบคุมเกียร์อัตโนมัติ
  • อ่านยี่ห้อ และเลขรหัสบนกล่องควบคุมเกียร์อัตโนมัติที่ถอดออกมา
  • (BOSCH - KJ - 1 421 628)
  • ดูขาที่เสียบคอนเนกเตอร์ ทั้งหมดมี 55 ขา
  • ด้านหลัง มีโบลต์ แหวนรอง ที่ยึดติดกับตัวถังรถ
  • ต่อไปเตรียมถอด เพราะอยากเห็นข้างใน
  • มีสกรูหัวดาว 6 ตัว ยึดไว้
  • มีสีเหลืองทาหัวสกรูไว้ด้วย แบบนี้ยังไม่เคยเปิดซิงมาก่อน ... รับรองบริสุทธิ์
  • ประแจหัวดาวที่ใช้ขนาด T10
  • ไขสกรูด้านซ้าย 2 ตัว ขวา 2 ตัว และตรงกลาง 2 ตัว
  • ดึงคอนเนกเตอร์และแผงวงจรออกจากกล่อง
  • เริ่มเห็นชิ้นส่วนข้างใน สภาพยังใหม่เอี่ยมมากๆ
  • กล่องและแผงวงจรที่ถอดออก
  • แผงวงจรเป็นแบบ 2 หน้า มีลายวงจรทั้งข้างบนและข้างล่าง
  • ภาพนี้เป็นแผงวงจรด้านบน ติดตั้งอุปกรณ์ตัวใหญ่


    (คลิก .... ขยายภาพ)
  • แผงวงจรด้านล่าง ด้านลายปริ้นต์ (วงจรพิมพ์)

    (คลิก .... ขยายภาพ)
  • ขาเสียบ ขั้วต่อคอนเน็กเตอร์ ..... ตรวจดู ต้องขาวใส สะอาด ไม่มีออกไซด์

    (คลิก .... ขยายภาพ)
  • วิธีตรวจ ... ปกติก็ดูด้ายตาของเรา หรือใช้แว่นขยายส่อง
    (ปู่ใช้กล้องดิจิตอลถ่ายซูมขยายดูในจอใหญ่ ช่วยได้เยอะ)
  • ดูว่าตัวคาปาซิเตอร์ (C) มีน้ำยารั่วไหลหรือไม่ ถ้ามีให้เปลี่ยน
  • ดูว่าตะกั่วที่บัดกรีขาอุปกรณ์ มีรอยร้าวหรือไม่ ถ้ามีให้บัดกรีซ้ำ

    (คลิก .... ขยายภาพ)
  • ด้านบน ตัวอุปกรณ์ มองจากด้านหลัง

    (คลิก .... ขยายภาพ)
  • ด้านซ้ายของแผงวงจร

    (คลิก .... ขยายภาพ)
  • ด้านขวา ตัว IC (EPROM) ที่มีกระดาษปิดหลังอยู่ ห้ามแกะออกนะครับ
  • IC ตัวนี้เป็นหน่วยความจำ ตัวเก็บข้อมูลโปรแกรมควบคุมเกียร์
  • บนหลังตัว IC ถ้าถูกแสงนาน ข้อมูลจะถูกลบออก เกียร์จะทำงานไม่ได้

    (คลิก .... ขยายภาพ)
  • ถ้าอุปกรณ์ทุกตัวยังสภาพดี ห้ามยุ่งกับมันโดยเด็ดขาด เดี๋ยวจะทำให้เสียหายมากขึ้น

  • ... เพราะเราทำเอง มันจึงพัง
    (ไม่อยากได้ยิน ประโยคนี้เลย)

    (คลิก .... ขยายภาพ)





  • ขอให้ทุกท่านโชคดี ...........ขับขี่รถ ปลอดภัย ทุกสถานการณ์
    มีความสุข ในชีวิต และ ในการ D.I.Y. BMW E34 นะครับ





    Homepage of GRANDFATHER : Assoc.Prof.BOONCHAT NETISAK
    Copyright © by BOONCHAT NETISAK, All Rights Reserved.


    [ BMW E34 DIY MAIN MENU ]