BMW E34 DIY

ทำเครื่องจ่ายไฟให้หลอดไฟส่องซ่อมรถ
How to make DC Power Supply for Car Fitting Lamp.

l โดย รองศาสตราจารย์บุญชัด เนติศักดิ์ l l MAIN MENU l

ทำเครื่องจ่ายไฟ .... ให้หลอดไฟส่องซ่อมรถ

    หลอดไฟที่ใช้ส่องให้แสงสว่างในการซ่อมรถ เพื่อความปลอดภัย ผมใช้โคมแบบหลอดแรงดันไฟต่ำ ซื้อที่เขาวางขายทั่วไป ได้มาพร้อมหลอด 12 โวลต์ 21 วัตต์ ความสว่างก็พอใช้งานได้ การซ่อมรถปกติผมก็ใช้หลอดนี้ส่อง และใส่ท้ายรถไว้ยามฉุกเฉินอาจมีประโยชน์

    เหตุผลที่ใช้หลอดไฟแรงดันต่ำในการซ่อมรถของผม ก็คือต้องการความปลอดภัย .... กลัวถูกไฟดูดว่างั้นเถอะ เพราะถ้าใช้หลอด 220 โวลต์ เสียบกับไฟบ้าน มันก็สว่างดี สว่างจ้ามากๆ แต่เราลากสายไฟไปมา บางทีไปนอนอยู่ใต้รถ นอนทับสายไฟ พลิกตัว สายไฟอาจพันแขน พันคอ กลัวไฟมันรั่ว อาจม่อง ... เท่งได้

    เครื่องจ่ายไฟ ที่ใช้งานในช่วงแรก ผมสร้างเครื่องจ่ายไฟเอนกประสงค์ จ่ายกระแสได้สูง ใช้สตาร์ตรถได้ ใช้ชาร์จแบตเตอรี่ได้ และเวลาซ่อมรถผมก็เอาไฟ 12 โวลต์จากเครื่องนี้จ่ายให้หลอดไฟ

    เครื่องจ่ายไฟ แบบใหม่ ดัดแปลงจากเพาเวอร์ซัพพลายของเครื่องคอมพิวเตอร์ คือเมื่อเราอัพเกรดเครื่องคอมพิวเตอร์ เขาเอาของใหม่ใส่ให้ ของเก่าก็ทิ้งอย่างไร้ค่า ไม่มีประโยชน์ ซึ่งเมื่อดัดแปลงแล้วใช้งานได้ดี น้ำหนักเบา ใช้งานคล่องตัว


  • หลอดไฟเพื่อใช้ส่องสว่างในการซ่อมรถ ที่ผมใช้
  • ตัวหลอดไฟใช้แบบในรถยนต์ 12 โวลต์ 21 วัตต์ (12V 21W)


  • ใช้คีบกับขั้วไฟแบตเตอรี่ เปิดสวิตช์ ก็จะใช้ส่องได้
  • แต่ถ้าเปิดใช้นานๆ ไฟในแบตเตอรี่อาจหมด สตาร์ตรถไม่ได้

    • เครื่องจ่ายไฟ......ตัวเก่า
    • สรัางไว้ตั้งแต่ 2531 เก่าแก่ ใช้งานมานาน เสียบกับปลั๊กไฟบ้าน 220V ใช้สตาร์ตรถได้
    • มีแรงดันออก 13.8 V สำหรับสแตนด์บายชาร์จ
      แบตฯ ... แบบชาร์จช้า ทิ้งไว้ทั้งคืน
    • มีแรงดันสูง สำหรับควิกค์ชาร์จ ... แบบชาร์จเร็วๆ มีมิเตอร์ดูกระแส
    • แม้จะเก่าแก่ แต่ปัจจุบันก็ใช้งานได้ดี
    • รุ่นคุณปู่ .. แบบลิเนียร์เรกุเลเตอร์ หนัก และใหญ่โต
      เครื่องจ่ายไฟ......ตัวใหม่
    • ตัวใหม่นี้ เป็นสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายจากเครื่องคอมพิวเตอร์
    • ทิ้งไว้ไม่มีประโยชน์ เอามาดัดแปลงเล็กน้อย ใช้งานได้ดี
    • เบา เล็ก ใช้งานคล่อง เสียบกับไฟบ้าน
      มีไฟออก 12V

      ข้อควรระวัง
      1. เพื่อความปลอดภัย ต้องถอดตัวเก็บประจุบางตัวออก และตัดปริ้นต์ทองแดงออก ตามที่แนะนำ เพื่อกันไฟรั่วลงกล่อง
      2. การขันน๊อตยึดแผ่นปริ้นต์ ต้องไม่มีส่วนใดของวงจรรั่วลงกล่อง ต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัยนะครับ .... อันตราย . !


    ขั้นตอนการดัดแปลงเพาเวอร์ซัพพลาย ... จ่ายให้หลอดไฟส่องซ่อมรถ



  • สวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายของคอมพิวเตอร์
    เมื่ออัพเกรดเครื่องคอมฯ มักไม่แลเหลียวมันอีก
  • ทิ้งไว้เกะกะ ไม่มีประโยชน์ ซึ่งความจริงมันยังดี ไม่เสีย
  • จะเอามาดัดแปลงเป็นตัวจ่ายไฟแก่หลอดไฟส่องซ่อมรถ
  • เปิดฝากล่องออก จะพบแผ่นปริ้นต์ ชิ้นส่วนข้างใน และพัดลมระบายความร้อน
  • มีสายไฟหลายเส้น เป็นกระจุก
  • ทำใจกล้าๆ ไม่ต้องกลัว มันง่ายมาก
  • สายไฟแบ่งเป็นกลุ่ม แยกสีไว้ชัดเจน
  • เราจะใช้สายไฟสีดำ (กราวด์) กับสายไฟสีเหลือง (ไฟ +12 โวลต์) เป็นไฟสำหรับจ่ายหลอดไฟซ่อมรถ

  • สายไฟสีแดง (+5V) สายไฟสีขาว (-5V) และสายไฟสีฟ้า (-12V) ทั้ง 3 เส้นนี้ไม่ใช้
  • เราจะต้องถอดสายไฟ หรือตัดสายที่ไม่ต้องการทิ้ง
  • เอาหัวแร้งร้อนๆ จี้ตะกั่วบนแผ่นปริ้นต์ ดึงสายไฟออก
  • ถอดปลั๊กที่ไม่ใช้งานที่ติดกับกล่องออก
  • ถอดพัดลมออกด้วย
  • ทำความสะอาด เป่าฝุ่น เช็ดกล่อง นอก-ใน
  • ใช้สีสเปรย์พ่นกล่องทั้ง 2 ชิ้น
  • ผมใช้สีเหลืองเพื่อให้เห็นชัดเวลาใช้งาน
  • ตรวจดูแผ่นปริ้นต์ สังเกตดูตรงมุมที่มีรูยึดน๊อตทั้ง 4 มุม
  • มุมที่ใส่สี่เหลี่ยมสีเหลือง ตรงนี้สำคัญ เมื่อขันสกรูมันจะลงกราวด์
  • มุมที่มีลายทองแดงเคลือบตะกั่วรอบรู มุมนี้เมื่อขันน๊อตมันจะสัมผัสกับกล่อง
  • ไฟจะรั่วลงกล่อง ไฟอาจจะดูดเรา ... อันตราย .....
  • เราจะต้องตัดลายทองแดงตรงนี้ออก โดยใช้ปลายคัตเตอร์กรีดออก
  • ตัวเก็บประจุ (Capacitor) 2 ตัว (ในภาพ ตัวสีฟ้า)
  • เป็นตัวบายพาสนอยส์ ถอดออกด้วย
  • การถอดเพาเวอร์ซัพพลายครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าบริษัทผู้สร้างเพาเวอร์ซัพพลายคอมพิวเตอร์ ละเลยใส่อุปกรณ์กรอง RFI Line noise filter ไม่ครบ
  • ซึ่งมันจะส่งคลื่นความถี่สูงที่มันสวิตชิ่งออกสู่สายไฟเมนของบ้าน แถมตัวมันเองก็ขาดการป้องกันที่ดี
  • จึงคาดเดาได้ว่า สวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลายที่ขายในบ้านเราจำนวนมาก ไม่ได้มาตรฐาน สร้างมลภาวะเข้าระบบไฟฟ้า

  • เราผู้บริโภค ถูกเอาเปรียบ ยังไม่มีหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐาน .... ซวย พวกเรารับกรรม ตามเคย
  • ประกอบแผ่นปริ้นต์ลงกล่อง ขันสกรูยึดมุมทั้ง 4 ด้าน
  • สายไฟสีเหลืองคือไฟ บวก 12 โวลต์
  • สายไฟสีดำคือกราวด์ (ไฟลบ)
  • ใส่พัดลมระบายความร้อนตามเดิม
  • ทำสวิตช์เปิดปิด เสียบสายไฟเข้าตามตำแหน่งเดิม
  • เสียบไฟเข้า ทดลองใช้กับหลอดไฟซ่อมรถ
  • ด้านนี้ เพิ่มแผ่นอะลูมิเนียม ใส่สวิตช์ และเจาะรูขั้วไฟออก
  • ใส่ขั้วไฟออก บวก-ลบ
  • ทำมือจับด้านบนเพื่อเป็นที่หิ้ว
  • ใช้ปากกาเมจิกแบบทนถาวร เขียน ON-OFF ที่สวิตช์เปิดปิดไฟเข้าเครื่อง และเขียนไฟขั้ว บวก-ลบ
  • แค่นี้ก็เสร็จ ได้เครื่องจ่ายไฟแก่หลอดไฟส่องเพื่อการซ่อมรถ แบบหรู ๆ 1 เครื่อง
  • ใช้ส่องซ่อมรถ หรือส่องดูอย่างอื่นได้เป็นเวลานานๆ
  • โดยไม่ต้องกังวลว่าแบตเตอรี่ของรถจะหมดและสตาร์ตไม่ได้อีกต่อไป



    เครื่องจ่ายไฟให้หลอดไฟที่ใช้ส่องสว่างในการซ่อมรถ ตามตัวอย่างนี้ ไม่มีขายในท้องตลาด ต้องทำเองเท่านั้น ....

    ... ถ้าสนใจ .... ลองทำดูนะครับ


  • Homepage of Associate Professor BOONCHAT NETISAK
    ADDRESS : 99/60 soi 9 PAHONYOTHIN ROAD AMPHER MUANG, LAMPANG THAILAND 52100
    Copyright © by BOONCHAT NETISAK, All Rights Reserved.

    [ BMW E34 DIY MAIN MENU ]