BMW E34 DIY

การเปลี่ยนบูชโตงเตงหลัง ใต้เทรลลิ่งอาร์ม
How to Replace trailing arm connecting link of BMW E34

l โดย รองศาสตราจารย์บุญชัด เนติศักดิ์ l MAIN MENU l

ความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับบูชโตงเตงหลัง ใต้เทรลลิ่งอาร์ม ของ BMW E34

    บูชโตงเตงหลัง เป็นชิ้นส่วนของระบบกันกระเทือนหลัง ตำแหน่งมันอยู่ที่หน้าล้อหลัง ใต้เทลลิ่งอาร์ม (ปีกนกหลัง) มีทั้งด้านซ้ายและขวา ลักษณะของมันคล้ายกล้องส่องทางไกลแบบสองตา ที่เป็นของเล่นเด็ก ผมสังเกตเห็นว่ายางกันฝุ่นของมันแตก คงหมดอายุ ลองถอดออกมาดู การทำงานมันคล้ายลูกหมาก เมื่อเอาไขควงตัวยาวๆ ใส่เข้าไปแล้วลองบิดโยกดู มันหมุนเอียงได้ทุกทิศทาง
  • ในคู่มือการซ่อม BMW 5-series เรียกว่า เทรลลิ่งอาร์มคอนเน็กติ้งลิ้งค์ (trailing arm connecting link)
  • เมื่อค้นหาในเว็บไซต์ที่ขายอะไหล่ต่างประเทศ เรียกว่า พิตแมนอาร์ม (pitman arm) (ชื่อนี้อาจจะทำให้สับสน กับชิ้นส่วนการบังคับเลี้ยว)
  • ช่วงหลังมา ผมได้ยินบางท่านเรียกบูชตัวนี้ว่า "บูชแว่นตา " ชื่อนี้ ก็พอมีเค้า อยู่บ้าง ใช้สื่อสารกันตามหมู่ช่างซ่อม ก็โอเค ครับ รู้เรื่อง
  • คนขายอะไหล่ที่ผมเจอและได้คุยกัน เขาเรียกว่า โตงเตง ชื่อนี้ต้องบอกคนขายว่า โตงเตงหลัง อีสามสี่ บีเอ็มครับ รับรองคุยกันได้รู้เรื่อง ตอนหลังที่ผมสั่งซื้ออะไหล่ โทรศัพท์บอกคนขายว่า บูชโตงเตงหลัง อีสามสี่ ได้ของส่งมาตรงตามที่ต้องการครับ


    หมายเหตุ
  • เมื่อหลายปีก่อน ช่างที่ศูนย์บีเอ็มดับเบิ้ลยูเคยบอกผมว่า บูชนี้คือ บูชตอแหล ตอนแรกผมก็ใช้ชื่อนี้ในการเขียนบทความ ต่อจากนี้เป็นการอัพเดต จะไม่ใช้ชื่อนี้อีกแล้วครับ ให้เกียรติเจ้าชิ้นส่วนที่ซื่อสัตย์ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าอีสามสี่มาอย่างยาวนาน ... ขออภัยที่ใช้คำไม่สุภาพในช่วงแรกครับ


  • รูปร่างของบูชโตงเตงหลัง ใต้เทรลลิ่งอาร์ม (ปีกนกหลัง) ผมว่ามันคล้ายกล้องส่องทางไกลของเด็กเล่น
  • บางท่านเรียกว่า บูชแว่นตา
  • บูชโตงเตงหลัง ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งที่เรียกกัน จะใช้ซื้ออะไหล่ก็ได้
  • บูชโตงเตงหลัง พอเก่าๆ ยางกันฝุ่นยุ่ย แตก และข้างในสึก หลวมโครก ๆ

  • ตำแหน่งของบูชโตงเตงหลัง จะอยู่ใต้รถ ที่หน้าล้อหลังทั้งสองด้าน
  • ก้มลงไปดูใต้รถ จะมองเห็น เอามือจับดูก็ได้
  • ตัวนี้เป็นตัวดั้งเดิมที่ติดมากับรถ เป็นตัวเก่ายังไม่เคยเปลี่ยน
    • อะไหล่ที่ต้องเตรียม

    • ต้องซื้อบูชโตงเตงหลัง ใต้เทรลลิ่งอาร์ม ตัวใหม่มาเตรียมไว้
    • จำนวน 2 ตัว จะเปลี่ยนทั้ง 2 ข้าง
      เตรียมเครื่องมือ

      1. ประแจแหวน 22 ม.ม. สำหรับล็อกน๊อตตัวเมียที่ด้านบนไม่ให้หมุนตาม
      2. ประแจบ็อก 22 ม.ม. พร้อมด้ามต่อ ใช้สำหรับขันโบลต์ออกและขันเข้า

      ข้อควรระวัง
      1. การขึ้นแม่แรงต้องมีขาตั้งที่แข็งแรงรองรับตรงจุดที่แข็งแรง ปลอดภัย รองหลายๆ ตัวก็ดี
      2. ถ้าพื้นลื่นต้องหาแผ่นยางรองใต้ขาตั้ง และต้องหนุนล้อที่อยู่กับพื้นทุกล้อกันรถไหล
      3. ก่อนทำงาน ให้โยกรถดูว่าปลอดภัยแน่ๆ ต้องไม่ยุบ ไม่โยกเยก รอบคอบหน่อยนะ.... อันตราย . !


    ขั้นตอนการเปลี่ยนบูชโตงเตงหลัง ใต้เทรลลิ่งอาร์ม

  • ขึ้นแม่แรงเพื่อยกล้อหลังด้านที่จะเปลี่ยนให้ลอยขึ้น
  • มีขาตั้งรองรับรถให้แข็งแรง
  • หนุนล้อทุกล้อที่อยู่กับพื้น กันไม่ให้ไหล
  • ถอดล้อหลังด้านที่จะเปลี่ยนออก
  • ใช้ประแจบ็อกเบอร์ 22 หมุนคลายโบลต์ (น๊อตตัวผู้) ที่ยึดใต้บูช ตัวที่อยู่ด้านนอกออก
  • คลายโบลต์ตัวใน โดยใช้ประแจแหวน 22 ม.ม. จับล็อกน๊อตตัวเมียที่อยู่ด้านบนไว้ ใช้ประแจบ็อก 22 ม.ม. หมุนโบลต์ตัวผู้ที่อยู่ด้านล่าง
  • ถอดบูชโตงเตง ตัวเก่าออก มันมีน๊อตตัวผู้ ตัวเมีย และแหวน
  • น๊อตตัวผู้ยาวไม่เท่ากัน จำไว้ตอนใส่กลับคืนจะได้ไม่ผิด
  • บูชที่ถอดออกมา ทั้ง 2 ตัว เป็นแบบนี้
  • ดูชัด ๆ ถึงเวลาให้เขาได้พัก หาอะไหล่ใหม่มาเปลี่ยนแทน
  • ทำความสะอาดโบลต์ (น๊อตตัวผู้) ทั้ง 2 ตัว
  • ทำความสะอาด แหวน น๊อตตัวเมีย และบริเวณรูที่เทรลลิ่งอาร์ม ใต้ตัวถัง ให้สะอาด
  • ใส่บูชโตงเตงตัวใหม่เข้าไป ขันโบลต์-น๊อตทุกตัวให้แน่น
  • ใช้ประแจปอนด์ขันด้วยแรง 94 ft-lb
  • ถ้าไม่มีประแจปอนด์ให้ขันเต็มแรง
  • ใส่ล้อหลังด้านที่เปลี่ยน เอาขาตั้งออก ลงแม่แรง
  • ไปขึ้นแม่แรง ใช้ขาตั้งรองรับ แล้วถอดล้อ เพื่อเปลี่ยนอีกข้างที่เหลือ
  • ดำเนินการเปลี่ยนบูชโตงเตง ตามขั้นตอน อย่างเดียวกัน
  • เมื่อเสร็จทั้ง 2 ข้าง ตรวจขันน๊อตล้อทุกตัวให้แน่น
  • เสร็จแล้วครับ
    ลองวิ่งทดสอบดู น่าจะดีกว่าก่อนเปลี่ยนนะครับ






    การเปลี่ยนบูชโตงเตงหลัง ครั้งที่ 2


    เปลี่ยนบูชโตงเตงหลัง ครั้งที่ 2 เมื่อ 1/10/2011 เลขระยะทาง 163,276 ก.ม.
    (UPDATE)


    เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่อะไหล่ชิ้ส่วนนี้ ที่ได้ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของ E34 มาอย่างดี
    บัดนี้ ถึงเวลาที่ต้องปลดประจำการเขาแล้ว ปู่จะขอเลิกใช้คำว่าบูชตอแหลตั้งแต่บัดนี้
    และจะเรียกเขาว่า บูชโตงเตงหลัง ของ อีสามสี่.... ครับ


  • เนื่องจากตอนรถวิ่ง ถนนเรียบๆ ในเมือง วิ่ง 40 - 60 กม./ชม. มีเสียงดัง เหมือนโลหะกระทบกันอยู่ใต้รถ กิ๊ง .. กิ๊ง .. กิ๊ง ..
  • ได้ตรวจหาสาเหตุ กระบวนการค้นหาจุดที่เสียงดังกิ๊งกิ๊ง..ใช้เวลาหลายวัน ถอดออกดูตัวที่สงสัยหมดทุกตัว เหลือเจ้าตัวนี้ตัวสุดท้าย
  • ดูสภาพภายนอก ก็ดูดี ไม่น่าเสีย ดูยางกันฝุ่น ก็ยังไม่ขาด
  • ครั้งที่แล้ว เปลี่ยนตอน เจ็ดหมื่นกว่ากิโลเมตร เมื่อห้าปีที่แล้ว เกือบจะหกปี (เดือน 12/2004)
  • เมื่อถอดเจ้าตัวบูชโตงเตง ใต้ปีกนกหลัง ออกมาดู ตอนแรกที่ถอดออกมาก็ยังไม่รู้ว่ามันเสีย
  • ต้องถอดยางกันฝุ่นออกมาดูข้างใน เจอว่ามันหลวมมากแล้ว
  • ข้างในไม่มีจาระบี สารหล่อลื่นอะไรเหลืออยู่เลย แห้งสนิท เอามือจับโยกคลอนดู โลหะตัวนอกกับตัวในกระทบกันดัง กิ๊ง .. กิ๊ง
  • รถวิ่งไป เสียงดัง กิ๊ง .. กิ๊ง .. ตลอดเวลา เหมือนชิ้นส่วนอะไรจะหลุด ทั้งคนขับ คนนั่ง ประสาทจะกิน เพราะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย
  • ดูสภาพภายใน จะหลวมมาก ๆ เห็นแบบนี้ไม่ไหวจริงๆ ครับ ไม่ต้องตรวจต่ออีกแล้ว ต้องปลดประจำการอย่างเดียว
  • ทางเลือก คือจะใช้อะไหล่ใหม่ หรืออะไหล่เก่ามือสอง เป็นทางเลือกที่ต้องตัดสินใจ
  • ผมไม่มีเครือข่าย และไม่มีข้อมูล ที่จะซื้ออะไหล่เก่าหรืออะไหล่มือสองอยู่เลย
  • ทางเลือกของผม มีทางเดียวคือ สั่งซื้ออะไหล่ใหม่ โตงเตงหลังมา 1 คู่
  • โทรไปสั่งของ กับอาเฮียที่เคยซื้อกันประจำ บอกโตงเตงหลัง อีสามสี บีเอ็ม 1 คู่ เอาตรานกนะครับ ..... เฮีย
  • โอนเงินไปตอนบ่าย ให้ส่งของแบบโอเวอร์ไนท์เอกซ์เพรสส์ (Overnight Express)
  • เพียงข้ามคืน วันรุ่งขึ้นไม่เกินสิบโมงเช้า ส่งของถึงบ้าน สะดวกมาก ระบบขนส่ง โลจิสติกส์ในปัจจุบัน
  • แกะกล่องเอาของออกมาตรวจดู
  • ตอนสั่งของ ระบุว่าเอาตรา นก นะครับ
  • สังเกตตรงสามเหลี่ยม ไอ้ตัวที่อยู่ข้างในนั่นแหละ คือ นก(ฮูก)
  • ดูไม่ค่อยออกหรอกครับ มองเห็นแค่สามเหลี่ยมก็สรุปว่า ตรานกแล้ว
  • ที่ยางกันฝุ่นก็มีตรา และตัวเลขอยู่ด้วย
  • เห็นยางกันฝุ่นแบบนี้พอเก่าไปมันจะสลายตัว เปื่อยยุ่ยหายไปหมดเลยละครับ แต่ก็โน่น อีกราว ๆ 6-7 ปี
  • ขอให้สังเกตไว้ พอยางกันฝุ่นเริ่มปริแตกเปื่อยยุ่ย เจ้าบูชโตงเตงนี้ก็เริ่มจะหมดสภาพ ถึงเวลาเปลี่ยนใหม่ครั้งต่อไป นะครับ
  • เมื่อถอดล้อออกแล้ว ตั้งขาตั้งรองรับรถมั่นคงดีแล้ว ก่อนถอดบูชโตงเตง ผมใช้แม่แรงตัวหนึ่งดันใต้เทลลิ่งอาร์มให้อยู่แนวระดับปกติ เพื่อการถอด โบลต์-น๊อตบูชโตงเตงไม่ฝืด
  • สังเกตที่ตัวบูช ควรอยู่ในแนวตรง (ดิ่ง) จะถอด หรือใส่ โบลต์ ง่าย
  • การถอดน๊อตตัวใน ใช้ประแจแหวน 22 ม.ม. ล็อกน๊อตไว้ไม่ให้หมุนตาม แล้วใช้ประแจบ๊อกไขโบลต์ทางด้านล่าง ต่อด้ามยาวให้เบาแรง
  • ถอดบูชตัวเก่าออกไปแล้ว ทำความสะอาด น๊อต โบลต์ แหวน และบริเวณรูที่ยึดน๊อต บน-ล่าง ของเทลลิ่งอาร์ม
  • ใส่โบลต์ตัวสั้นเข้ากับบูช พร้อมใส่แหวนรอง
  • ใส่โบลต์หมุนเกลียวเข้ากับเทลลิ่งอาร์ม
  • การเปลี่ยนบูชคราวนี้ มีประแจปอนด์ด้วย ด้ามยาว ตั้งใจเอามาขันช่วงล่างโดยเฉพาะ
  • ตั้งแรงขันที่ 94 ปอนด์
  • ใช้ประแจปอนด์ขันเข้าไปพอตึงมือ แล้วขันต่อจนมีเสียงดัง ... แก๊ก แปลว่า พอแล้ว ขันแน่นที่ 94 ปอนด์แล้ว ได้มาตรฐานแล้ว หยุดขัน
  • ขันแน่นเท่ากันทั้งสองตัว ตอนที่ขันโบลต์ตัวใน ต้องใช้ประแจแหวน 22 ม.ม. จับล็อกน๊อตตัวบนไม่ให้หมุนตาม
  • ด้านซ้าย เปลี่ยนบูชเรียบร้อยแล้ว
  • ไปถอดบูชทางด้านขวา ตรงนี้มีเหล็กชิ้นหนึ่งพาดเป็นตัวค้ำยันไว้ใต้บูช มีแหวนบนล่าง
  • ชิ้นส่วนที่ถอดออก
  • โบลต์ตัวยาว มีสนิมขึ้น
  • เมื่อทำความสะอาดชิ้นส่วน โบลต์ น๊อต แหวน และบริเวณรูขันน๊อตสะอาดดีแล้ว ใส่โบลต์ตัวสั้นและแหวน
  • นำขึ้นไปขันยึดติดกับเทลลิ่งอาร์ม หมุนเกลียวเข้าด้วยมือเกือบสุดเกลียว
  • โบลต์ตัวยาว ทำความสะอาด ใช้จาระบีทาผิวบางๆ เป็นการป้องกันสนิม
  • ใส่แหวน แล้วใส่โบลต์จากใต้เหล็กค้ำยัน ดันให้ทะลุขึ้นข้างบน
  • ที่เกลียวด้านบน ใส่แหวนรอง
  • ใส่น๊อต หมุนเกลียวเข้าด้วยมือจนตึงมือ
  • ขันโบลต์ด้วยประแจปอนด์ จนแน่น ตามมาตรฐาน 94 ปอนด์ทั้งสองตัว
  • บูชโตงเตงหลัง ตัวเก่าที่ถอดออก หน้าตาเขาดูเหมือนยังดีๆ หล่อเหลาอยู่เลย แต่จะต้องปลดประจำการเสียแล้ว
  • ขอบคุณเจ้าอะไหล่ บูชโตงเตง ที่ทำหน้าที่รับใช้อย่างดีมาตลอดนานกว่า 5 ปี Thanks.... Thanks....
  • สภาพบูชโตงเตง ที่เปลี่ยนใหม่ เข้าประจำการเรียบร้อยแล้ว ด้านขวา
  • สภาพบูชโตงเตง ที่เปลี่ยนใหม่ เข้าประจำการเรียบร้อยแล้ว ด้านซ้าย
  • นี่เป็นตัวเลขกิโลเมตรที่เปลี่ยนบูชโตงเตง ถ้าเฉลี่ยอายุใช้งานของบูชก็จะอยู่ประมาณ 80,000 กิโลเมตร
  • เป็นการขับใช้งานที่ถนนลาดยาง คอนกรีต ไม่ค่อยได้ลงหลุม ถ้ากรณีขับโหด ๆ หรือทางขรุขระ น่าจะอายุสั้นกว่านี้
  • การเปลี่ยนบูชโตงเตงหลังคราวนี้ มีเครื่องมือดีขึ้นกว่าครั้งแรก มีประแจปอนด์ด้วย ซื้อแบบไม่แพง เอาพอใช้ได้ครับ


    หมายเหตุ
    ไม่มีประแจปอนด์ก็ขันน๊อตได้นะครับ ครั้งแรกที่ผมเปลี่ยนก็ไม่มีประแจปอนด์ เราก็ขันให้แน่นมากๆ หน่อย ก็ไม่มีปัญหาอะไร ใช้งานได้มาตั้ง 5-6 ปี คราวนี้ขอ Upgrade หน่อย .... ก็เท่านั้นเอง

  • สรุปผลการเปลี่ยนบูชโตงเตงหลัง (1/10/2011)
    1. หลังการเปลี่ยนด้วยอะไหล่ใหม่ อาการเสียงดัง กิ๊ง .. กิ๊ง .. แบบโลหะกระทบกัน ตอนรถวิ่ง หายไป รถวิ่งมั่นคงขึ้น คนขับ และคนนั่งด้วย รู้สึกดีขึ้น ไม่วิตกกังวลอะไรอีก ซ่อมตรงจุด มันไม่มีอะไรคาใจอีกแล้วครับ

    2. กรณีรถของท่าน มีเสียงดังจากใต้รถ กิ๊ง .. กิ๊ง .. กิ๊งกิ๊ง ตอนรถวิ่ง ถ้าได้ตรวจชิ้นส่วนอื่นแล้วไม่พบข้อบกพร่อง ควรถอดบูชโตงเตงหลังมาตรวจดู ครับ .... อาจเป็นตัวที่ใช่ก็ได้ ...... สวัสดี.




    ขอให้ทุกท่านโชคดี ...........ขับขี่รถ ปลอดภัย ทุกสถานการณ์
    มีความสุข ในชีวิต และ ในการ D.I.Y. BMW E34 นะครับ





    Homepage of GRANDFATHER : Assoc.Prof.BOONCHAT NETISAK
    Copyright © by BOONCHAT NETISAK, All Rights Reserved.


    [ BMW E34 DIY MAIN MENU ]