BMW E34 DIY Do it yourself by GRANDFATHER (Assoc.Prof. Boonchat Netisak)
Faculty of Industrial Technology, Lampang Rajabhat University, THAILAND. 52100
การตรวจซ่อมลูกหมากคันส่งพวงมาลัย
Steering Linkage Ball Joint Rebuilt
l โดย รองศาสตราจารย์บุญชัด เนติศักดิ์ (คุณปู่) l MAIN MENU l

      ลูกหมากคันส่งพวงมาลัย

  • ระบบบังคับเลี้ยวด้านหน้า
    ระบบบังคับเลี้ยว ของ BMW E34 เป็นแบบโบราณ คึกดำบรรณ์สุด ๆ หรือจะให้ดูดี ก็ต้องบอกว่าเป็นแบบคลาสสิคดั้งเดิม ซึ่งจะทำให้เจ้าของรู้สึกดี มีราศรี ขึ้นมาอีก .... นิดหน่อย

    ความจริงระบบพวงมาลัยของ E34 ก็ไม่เลวร้ายอะไร เป็นระบบที่เข้าใจง่าย มีปั๊มเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรง อาจจะไม่ทันสมัย ... เท่ารถรุ่นใหม่ ตรงที่ไม่มีวงจรช่วยทำให้พวงมาลัยฝืด เมื่อใช้ความเร็วสูงเท่านั้นเอง แต่ในยุคของเขา สมัยหนุ่มสาว แค่นี้ก็ถือว่า ยอดเยี่ยมแล้ว

    [ Reference Source : Fig. 3. Steering gearbox and linkage. BMW 5-Series Service Manual. Bentley Publishers. p.300-3 ]

    ส่วนประกอบระบบบังคับเลี้ยวของ BMW E34 รูปข้างบน แบบพวงมาลัยซ้าย สำหรับรถที่ใช้ในประเทศที่ขับเลนขวา ของเราที่ใช้กันในเมืองไทยแบบพวงมาลัยขวา คือเราขับเลนซ้าย ก็ย้ายตัวปั๊มเพาเวอร์ไปไว้ทางขวา ส่วนประกอบเหมือนกัน พอเราหมุนพวงมาลัย ตัวขาไก่ที่อยู่ใต้ปั๊มเพาเวอร์ก็จะไปโยกคันส่งตัวกลาง ซึ่งจะต่อเชื่อมโยงไปยังล้อทั้งซ้ายขวาด้วยคันส่งตัวข้าง การเชื่อมต่อกันของชิ้นส่วนผ่านลูกหมาก (ball joint) โยกได้หลายมุม ตัวลูกหมากต้องคับแน่นพอดี ไม่หลวม จึงจะทำให้การบังคับรถมั่นคง มีเสถียรภาพ

    ชิ้นส่วนของระบบบังคับเลี้ยว ได้แก่ พวงมาลัย แกนพวงมาลัยและยอยต์ ตัวปั๊มเพาเวอร์ และคันส่ง แขนประคองหรือกล้องยา (idler arm) และขาไก่ (pitman arm) อะไรประมาณนี้ มีคันส่งกลาง 1 ตัว และคันส่งข้าง 2 ตัว ซึ่งมีลูกหมากอยู่ที่คันส่งทั้งหมดจำนวน 6 ตัว

    กล้องยา กับ ขาไก่ ลองสังเกตดูให้ดี นะครับ แล้วจินตนาการ ว่าเหมือน หรือคล้ายไหม


    [ Reference Source; http://www.realoem.com/bmw/ ]


    ชิ้นส่วนของระบบบังคับเลี้ยวที่ถอดออก ได้แก่
    1. แขนประคองหรือกล้องยา (idler arm)
    2. คันส่งกลาง (center tie rod)
    3. คันส่งข้างซ้าย (outer tie rod, left)
    4. คันส่งข้างขวา (outer tie rod, right)
    ในวงสีเขียวคือลูกหมาก 6 ตัว ที่จะต้อง ตรวจสอบการชำรุด หากหลวม คลอน ต้องซ่อมหรือเปลี่ยนใหม่





  • อาการที่ต้องตรวจ ลูกหมากพวงมาลัย
    ระยะฟรีของพวงมาลัยมากเกินไป มีเสียงดัง กั๊ก .. กั๊ก .. กระเทือนมาถึงมือเราที่จับพวงมาลัย เมื่อล้อหน้าตกหลุม กระแทกขอบถนน เปลี่ยนระดับ หรือข้ามลูกระนาด ตอนหักเลี้ยวมีเสียงกระแทกของลูกหมากดังมาก กึก... กัก



    การตรวจลูกหมากคันส่งพวงมาลัย
  • จอดรถบนพื้นราบปกติ ใช้คนช่วย นั่งในรถ ติดเครื่องยนต์ แล้วหมุนพวงมาลัยไปซ้าย แล้วสลับไปขวา คือหมุนไปซ้ายทีขวาที จนเกิดเสียงดัง กึกกัก
  • เราคนตรวจ ก้มลงมองเข้าไปใต้รถ ตรงหลังล้อหน้า บริเวณลูกหมาก มองดูตรงที่มีเสียงดัง แนวที่ลูกศรสีเขียวชี้
  • ถ้าลูกหมากหลวมก็จะเห็นน๊อตลูกหมากมันโยกเยกตอนที่เสียงดัง หรือตรวจตอนดับเครื่องยนต์ ใช้มือโยกที่ตัวคันส่ง ถ้าหลวมมันจะขยับตัวได้ ตรวจทั้งข้างซ้ายและข้างขวา
  • รถของปู่นี้ไม่ต้องตรวจมาก ก้มลงมองดูก็เห็นว่ามันหลวม โครกๆ




    BMW E34 ของคุณ ได้ตรวจดูลูกหมากของระบบบังคับเลี้ยว หรือยัง ... ? ลองตรวจบ้าง เผื่อพบตัวเสีย จะได้วางแผนการซ่อมได้อย่างทันท่วงที

    ลองติดตามอ่าน DIY เพจนี้ดู ได้ลงรูปและเนื้อหาไว้อย่างละเอียด ใครไม่เคยรู้จักลูกหมาก ก็จะได้รู้จัก จะได้ทราบโครงส้างภายใน และขั้นตอนการซ่อม เป็นความรู้ เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ว่าจะซ่อมของเดิม หรือใช้อะไหล่ใหม่



   No problem, We can do, Please continue ............ this DIY.
   [upLoad on 01/07/2011]


การถอดลูกหมากคันส่งพวงมาลัยไปซ่อม
  • เครื่องมือถอดลูกหมาก ใช้วิธีขันน๊อตดันแกนลูกหมากออก หรือบีบกดแกนลูกหมากออก
  • ช่างบางคนใช้วิธีเอาค้อนเคาะ (ทุบ) แรงๆ ตัวลูกหมากก็จะหลุดออก

    (ผมใจไม่ถึง ไม่กล้าทุบ กลัวไปกระเทือนชิ้นส่วนอื่น อาจทำให้มีอาการแทรกซ้อนได้ จึงลงทุนซื้อเครื่องมือ)
  • ลูกหมากคันส่งพวงมาลัยด้านขวา เราสามารถมุดลงไปใต้รถ ใช้มือโยก เขย่าดูการหลวมได้ ชิ้นส่วนลูกหมากตรงนี้ ยึดติดกับขาไก่ของเพาเวอร์พวงมาลัย
  • ตรงลูกศรชี้ เมื่อหลวม จะทำให้เกิดเสียงดัง กึกกัก ส่งมาทางพวงมาลัย ตอนล้อตกหลุมหรือกระแทกเนินขอบ
  • ลูกหมากคันส่งพวงมาลัย ตัวด้านนอกที่บังคับเลี้ยวที่ล้อ
  • ชุดลูกหมากด้านซ้าย ยึดติดกับแขนประคองหรือกล้องยา
  • เริ่มการถอดลูกหมากที่ด้านขวา
  • ถอดน๊อตลูกหมากออกแล้ว 1 ตัว
  • ใส่เครื่องถอดลูกหมากเข้าไป ขันเกลียวดันจนแกนลูกหมากที่เป็นเทเปอร์มีเสียงสั่น ดัง .... เป๊าะ หลุดออกมา
  • ถอดน๊อตตัวบนที่ยึดคันส่วตัวกลางกับขาไก่ของเพาเวอร์พวงมาลัยออก
  • เหลือที่จะต้องถอด คือ เอาแกนลูกหมากออกมาจากขาไก่ของเพาเวอร์

    ตรงนี้ คือปัญหาของผมในการถอดลูกหมากพวงมาลัย
  • จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ เข้าไปดันออก ก็ไม่ได้เพราะที่แคบมาก
  • จะใช้ค้อนเคาะออกก็ไม่กล้า กลัวกระเทือนตัวเพาเวอร์ อาจจะพัง หรือน้ำมันรั่ว (กลัวงานอื่นเข้า) จึงหยุดการถอดไว้ก่อน เพื่อคิดหาวิธีถอดแบบปลอดภัย
  • นอนเอามือก่ายหน้าผาก คิดว่าจะถอดเจ้าลูกหมากตัวที่เป็นปัญหาได้อย่างไร แบบนิ่มนวล และไม่ซาดิสม์ รุนแรง
  • วันรุ่งขึ้นไปที่ร้านขายเครื่องมือ ถามหาเครื่องมือถอดลูกหมาก ที่ร้านมีขาย แบบใดบ้าง
  • คนขายทำท่างง ๆ มองไปตามแผงตู้เครื่องมือที่โชว์ไว้เต็มพรืด ..... สารพัดเครื่องมือ แต่คนขายไม่หยิบเครื่องมือให้ ... ซักกะที
  • รอนาน .... จนในที่สุดผมบอกว่า ... ขอหาเองได้ไหม พักเดียวไปจ๊ะเอ๋ .... มองเห็นชิ้นหนึ่ง มีเค้าว่าน่าจะใช้ได้
  • คนขายถามผมว่า มันคืออะไร ...? จะเอาไปทำอะไร ...? เขาอ่านโค้ดที่เขียนบนตัวมัน แล้วพึมพำ มันแพงนะ ราคาตั้ง พันห้า ....
  • ผมบอกว่า ไม่เป็นไรจะลองเสี่ยงดู
  • มันเป็นของเยอรมัน (made in GERMANY) น่าจะใช้แก้ปัญหากับงานของผมได้
  • สรุปว่า .... ผมซื้อเครื่องมือได้ โดยคนขายก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร .... คนขายตัวจริงไม่อยู่ อยู่แต่คนเฝ้าร้านครับ
  • เห่อ ... เครื่องมือใหม่
  • มาถึงบ้าน จัดการถอดลูกหมากตัวที่เป็นปัญหาทันที
  • แต่ก็ไม่ง่าย ใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องถอดแผ่นอะลูมิเนียมกันความร้อนของท่อไอเสียออกก่อน จึงจะมีพื้นที่ให้ทำงานได้
  • พอใจเครื่องมือถอดลูกหมากที่ซื้อมา เพราะสามารถถอดลูกหมากได้ตามที่ต้องการ
  • สามารถถอดออกได้อย่างนิ่มนวล ขันน๊อต ... ดันขึ้น ให้ปากมันบีบลง เสียงแกนลูกหมากหลุดออก ดัง "เป๊าะ"
  • มูลค่าการถอดลูกหมากตัวนี้ = 1500 บาท
  • ไปถอดด้านซ้าย ด้านแขนประคอง หรือบูชกล้องยา
  • ถอดโบลต์ที่ยึดบูชกล้องยาออก ดึงชุดลูกหมากและชิ้นส่วนออกมา
  • ใช้เครื่องถอดลูกหมากบีบ ดันแกนลูกหมากออก ซื้อมาแล้ว ใช้ให้คุ้ม
  • ตรงนี้ถ้าไม่มีเครื่องมือถอดลูกหมาก จะใช้ค้อนเคาะออกก็ได้ ไม่กระเทือนถึงชิ้นส่วนอื่น
  • ชิ้นส่วนที่ถอดออกและเครื่องมือที่ใช้
  • ชิ้นส่วนที่ถอดออก ใช้ยาลบคำผิดแบบสีขาว เขียนทำเครื่องหมายบอก ตัวซ้าย ตัวขวา และด้านบน ด้านล่าง ให้ชัดเจน (อาจเขียนก่อนถอดจากรถก็ได้)
  • เราจะนำชิ้นส่วนนี้ไปที่ร้านทำลูกหมาก ให้เขาซ่อม อัดลูกหมากให้ใหม่


    *** สำคัญ ***
  • เราจะนำคันส่งตัวกลาง และตัวข้างซ้าย-ขวา ตามสภาพเดิมของมัน 3 ชิ้น ที่มีลูกหมากติดอยู่ไปซ่อม
  • ห้ามถอดตัวลูกหมากออก หรือหมุนเกลียวให้ความยาวคันส่งเคลื่อน เพราะตอนซ่อมเสร็จนำกลับมาใส่คืน มุมโทของล้อจะเท่าเดิม ไม่ต้องไปตั้งศูนย์ก็ได้
  • แขนประคองหรือกล้องยา ตรวจดูบูชยาง ฉีกขาด หลวมโยกคลอนหรือไม่
  • หากพบว่าชำรุด สามารถเปลี่ยนเฉพาะบูชได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเหล็กทั้งตัว
  • ตรวจลูกหมากที่คันส่งตัวข้างซ้าย - ขวา ใช้นิ้วโยกดู ต้องฝืดหรือแน่นมาก จึงจะดี
  • ถ้าหลวมมากเกิน หมุนคล่องเกิน แค่ปลายนิ้วดันได้ เป็นเหตุให้พวงมาลัยหลวม และล้อไม่นิ่ง ควรซ่อม
  • ตรวจการชำรุด การหลวม ของลูกหมากที่คันส่งกลาง พบว่าหลวมมาก ใช้นิ้วโยกดู หลวมโครกเครก
  • การหลวมของลูกหมาก เป็นสาเหตุของการมีเสียงดังตอนล้อหน้าตกหลุม ดัง กั๊ก (กึ๊ก) มาตามพวงมาลัย
  • ตอนหักพวงมาลัยเลี้ยวจะดังแรง หักพวงมาลัยเลี้ยวซ้าย ดัง .... กึก .... หักขวา ดัง ...กึก ดังแรง คนขับอาจตกใจได้
  • ตัวลูกหมากที่คันส่งกลาง ปกติการทำงานจะหมุนได้รอบตัว ดึงออกหรือดันเข้า ต้องแน่นมาก คือไม่ขยับ
  • แต่ถ้าดึงออก และดันเข้าได้ คือหลวมโครก ๆ ชิ้นส่วนข้างในเสียหายหมดแล้ว
  • สภาพของลูกหมากคันส่งกลางที่ถอดออกมา
  • ยางกันฝุ่นฉีกขาดบางส่วน และมีผงสีขาวออกมารอบๆตัว
  • แคะยางกันฝุ่นออกดู ข้างในเต็มไปด้วยผงสีขาวแก่
  • ผงนี้เป็นการสลายตัว เพราะหมดอายุขัยของชิ้นส่วนในลูกหมาก ทำให้เกิดช่องว่างในลูกหมาก ลูกหมากจึงหลวมโครก เกิดเสียงดังตอนหมุนพวงมาลัยหักเลี้ยว ตอนคันส่งเคลื่อนที่
  • เอาผงออกแล้ว ส่วนที่เป็นโลหะยังสภาพดี
  • ยี่ห้อดั้งเดิมที่มากับรถ คือ TRW และตรา BMW
  • ที่ตัวคนส่งก็มีอักษร TRW
  • สภาพยางกันฝุ่น แบบนี้ต้องซื้ออะไหล่มาเปลี่ยน
  • คันส่งตัวข้าง ที่แผ่นปิดหลังลูกหมากทุกตัวจะปั๊มยี่ห้อ TRW และตรา BMW
  • สภาพจริง ของเดิม ยังไม่เคยซ่อมมาก่อน
  • ใช้ยาลบคำผิด สีขาว ทำเครื่องหมายไว้ที่เกลียว เพื่อดูว่ามีการขยับหรือความยาวเคลื่อนไปหรือไม่
  • ตรวจยางกันฝุ่น ของเดิมจะคุณภาพดี
  • หากมีตัวไหนสภาพไม่ดี ฉีกขาด ก็เตรียมซื้ออะไหล่มาเปลี่ยน
  • ชิ้นส่วนที่ถอดออก ตรวจสอบแล้ว ลูกหมากตัวไหนหลวม-ไม่หลวม จะซ่อมตัวไหน ไม่ซ่อมตัวไหน หรือซ่อมทั้งหมด
  • ยกคันส่งทั้งสามไปที่ร้านซ่อม บอกให้ช่างซ่อม ตามที่ต้องการ *** สำคัญ ... ห้ามขยับเกลียวให้เคลื่อนไปจากเดิม
  • ลูกหมากที่มักจะหลวมก่อน 3 ตัว คือ C1-L1-R1 ลูกหมาก ตัวที่จะหลวมช้ากว่า คือ C2-L2-R2
  • แนะนำว่าควรซ่อมพร้อมกันทั้ง 6 ตัว จะดีที่สุด โดยเฉพาะคันส่งกลางควรซ่อมพร้อมกัน ถอดยาก ตัวขวาเสียก่อน ถอดออกมาซ่อมดีแล้ว อีกไม่นานตัวซ้ายก็จะเสีย เพราะวัสดุภายในอย่างเดียวกัน

  • ความรู้เกี่ยวกับการซ่อมลูกหมากคันส่งพวงมาลัย
  • การซ่อมลูกหมาก เสนอเป็นความรู้เสริมเพื่อความเข้าใจ
  • เราไม่มีเครื่องมือ จึงไม่ได้ทำเอง เป็นขั้นตอนของช่างที่โรงกลึง
  • ช่างจะกลึงปาดเอาแผ่นเหล็กที่ปิดด้านหลังลูกหมากออกก่อน
  • ดันลูกหมากออกมา ซ่อมชิ้นส่วนข้างในที่เป็นเสื้อพลาสติกสังเคราะห์ อัดให้คับแน่น แล้วปิดแผ่นเหล็กด้านหลังกลับคืน

    หมายเหตุ
    วิธีการ และ ขั้นตอนการซ่อมลูกหมากคันส่ง เหมือนกับการซ่อมลูกหมากปีกนก ( คลิกดูการซ่อมลูกหมากปีกนก )
  • คันส่งกลาง ตัวมันยาวมาก กลึงแบบปกติไม่ได้
  • ต้องเชื่อมตัวคันส่งติดแท่นไว้ แล้วกลึงแบบใบมีดหมุน
  • ช่างเขาดัดแปลงเครื่องมือของเขาเอง ขอชมว่า .... เยี่ยม
  • กลึงปาดผิวของแผ่นเหล็กปิดหลังลูกหมาก ให้บางมาก ๆ เฉพาะตรงขอบ
  • ดันตัวลูกหมากให้ทะลุออกด้านหลัง
  • แผ่นปิดด้านหลังลูกหมากออกไปแล้ว จะมีผงอยู่ภายในอัดแน่นอยู่เต็ม
  • ดันแกนลูกหมาก ให้ออกมา
  • สภาพของแกนลูกหมากยังไม่เสียหาย
  • เมื่อเช็ดทำความสะอาดจะใส ผิวเรียบ ทั้งแกนลูกหมากและเบ้า ใช้ได้
  • ทำชิ้นส่วนข้างในใหม่ ทดแทนที่เสียเป็นผง
  • ใช้วัสดุพลาสติกสังเคราะห์ กลึงเจาะรูเป็นวงแหวน ขนาดคับแน่นพอดี กับลูกหมากและเบ้า
  • ชิ้นส่วนรูปวงแหวน ตัวแรกใส่ลงก่อน อัดเข้าไป (วงแหวนที่กลึงใหม่)
  • เอาแกนลูกหมาก ชะโลมผิวด้วยจาระบีให้ทั่ว
  • ใส่แกนลูกหมากลงในเบ้า แล้วใส่วงแหวนชิ้นที่สองตามลงไป (ใช้วงแหวนตัวเดิม)
  • แหวนชิ้นที่สามปิดหลังลูกหมาก (วงแหวนที่กลึงใหม่)
  • เติมจาระบี แล้วปิดด้วยแผ่นเหล็ก
  • ตอกอัดย้ำขอบไม่ให้แผ่นปิดหลุด
  • กลึงตกแต่งให้งาม
  • ขั้นตอนต่อไปนี้ทำด้วยตัวเราเองได้
    ใส่ยางกันฝุ่นและพ่นสี จะได้ถูกใจ

  • ยางกันฝุ่น ของลูกหมากคันส่งกลาง ซื้อใหม่ 2 ตัว
  • เป็นยางมีขอบเป็นโลหะ เวลาซื้อเอาตัวเก่าไปเทียบ ประมาณ 31.5 - 32 mm.
  • ขอบโลหะต้องเท่าของเดิม รูยางตรงแกนกลางเล็กไม่มีปัญหา ตอนใส่มันยืดได้แน่นพอดี
  • ลูกหมากที่ซ่อมข้างในแล้ว เช็ดแกนให้สะอาด และเช็ดขอบบริเวณรอบ ๆ ที่จะครอบยางกันฝุ่นให้สะอาด
  • ไม้มารองให้แกนลูกหมากตั้งขึ้น
  • ยางกันฝุ่นที่ซื้อมา ลองครอบสวมดูว่าหลวมหรือคับ
  • ผมซื้อได้ของเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 mm. หลวมพอดี เป๊ะ ไม่คับเลย ต้องทุบให้เป็นวงรีเล็กน้อย เพื่อให้คับพอดีตอนใส่
  • สวมครอบยางกันฝุ่นบนตัวลูกหมาก
  • ใช้ประแจ 32 mm. (หรือท่อ กระบอก 32 mm.) ใส่ทับขอบยางกันฝุ่น
  • ใช้ค้อนเคาะบนประแจรอบขอบของยางกันฝุ่น เป็นการส่งย้ำให้ขอบของยางกันฝุ่นเข้าไปอย่างสม่ำเสมอและแน่น
  • ทำความสะอาดด้านหลังลูกหมากทุกตัวที่ไปซ่อมมา
  • ใช้ทินเนอร์เช็ดคราบจาระบี ออกให้ผิวสะอาด
  • ใช้สีสเปรย์พ่นด้านหลังลูกหมากทุกตัวที่ซ่อม
  • ผึ่งไว้ ปล่อยให้สีแห้ง
  • สภาพลูกหมากของคันส่งกลาง ที่ซ่อมแล้ว ด้านซ้าย
  • สภาพลูกหมากของคันส่งกลาง ที่ซ่อมแล้ว ด้านขวา
  • ลูกหมากคันส่งตัวซ้าย-ขวา ที่ซ่อมแล้ว พ่นสีที่แผ่นเหล็กปิดหลังลูกหมาก
  • ลูกหมากคันส่งตัวซ้าย-ขวา สีแห้งแล้ว เช็ดแล้วก็ดูดี
  • ดูอีกมุมหนึ่งของลูกหมากคันส่งตัวซ้าย-ขวา
  • ยางกันฝุ่นใส่แล้ว ใช้ของเดิม 3 ตัว ซื้อใหม่ 1 ตัว
  • ที่ซื้อใหม่ไม่ค่อยถูกใจ ลวดรัดก็ไม่มี เลยใช้ลวดทองแดงมัดไว้
  • ลูกหมากคันส่งกลาง และคันส่งตัวซ้าย-ขวา ซ่อม เช็ดทำความสะอาด และพ่นสีเรียบร้อยแล้ว พร้อมใส่

  • การประกอบลูกหมากคันส่งพวงมาลัยกลับเข้าที่เดิม
    การประกอบชิ้นส่วนคันส่งกลับเข้าที่เดิม


  • นำคันส่งตัวกลางที่ซ่อมลูกหมากแล้ว ใส่กลับเข้าที่เดิม
  • ยึดน๊อตกับกล้องยา แบบหลวมๆ พยุงไว้ก่อน
  • ปลายอีกด้านหนึ่งของคันส่งกลางยึดกับขาไก่ของปั๊มเพาเวอร์พวงมาลัย

    หมายเหตุ
    แจ๊คตัวสีส้มนี้ ใช้เพื่อประคองรองรับ เพื่อเสริมความปลอดภัย เผื่อเกิดอุบัติเหตุ ไม่ได้ใช้ยกรถทั้งคัน
  • ใส่ลูกหมากคันส่งตัวขวา ดูเครื่องหมายที่เราทำไว้ R ลูกหมากตัวบนอยู่ด้านบน เช่นเดียวกับตอนถอด
  • นี่เป็นด้านขวายึดกับขาไก่ของตัวเพาเวอร์
  • น๊อตยึดแกนลูกหมาก เป็นน๊อตแบบล็อกเกลียวกันคลาย ผมใช้ตัวเดิม (ตามหลักการซ่อมที่ดี เขาให้ใช้ตัวใหม่)
  • ขันน๊อตให้แน่นๆ ถ้ามีประแจปอนด์ ใช้แรงขัน 28 ปอนด์ ตัวที่ติดกับขาไก่ของปั๊มเพาเวอร์ขัน 44 ปอนด์
  • ผมไม่ได้ใช้ประแจปอนด์ ขันแบบลูกทุ่ง ขันแน่นหน่อย กะกะเอา ประมาณว่าปลอดภัยไม่หลุด
  • โปรดสังเกต ยางกันฝุ่นตัวนี้เปลี่ยนใหม่ ผมใช้ลวดทองแดงมัดยางกันฝุ่นที่หุ้มแกนลูกหมากไว้
  • ปกติจะมีลวดขดหรือยางเป็นวงรอบรัดไว้เพื่อให้ยางแนบติดกับแกน ซึ่งของเดิมเสียไปแล้ว ซื้อยางกันฝุ่นใหม่มาเขาไม่มีตัวรัดให้ จึงต้องแก้ปัญหา
  • ภาพนี้ เป็นลูกหมากคันส่งตัวซ้าย ด้านที่ยึดติดกับแขนประคอง หรือกล้องยา ใส่เข้าที่เดิมและขันน๊อตทุกตัวให้แน่น

  • ต่อไป ..... ตรวจขันน๊อตลูกหมากทุกตัวให้แน่น ครบทั้ง 6 ตัว
  • ....... ย้ำ ..... ตรวจขันน๊อตลูกหมาก ทุกตัวที่ถอด ให้แน่น
  • คันส่งที่ใส่กลับเข้าที่เดิมแล้ว (ด้านขวา) ใต้ที่นั่งคนขับ ถ่ายจากหน้ารถเข้าไป
  • คันส่งที่ใส่กลับเข้าที่เดิมแล้ว (ด้านซ้าย) ใต้ที่นั่งผู้โดยสาร ถ่ายจากหน้ารถเข้าไป

  • เมื่อใส่ลูกหมากคันส่งเข้าที่และขันน๊อตแน่นดีทุกตัวแล้ว ภาระกิจในการเปลี่ยนลูกหมากคันส่งพวงมาลัยของเรา ก็เสร็จ
  • สามารถใช้รถขับไปไหนมาไหน ใช้งานได้ตามปกติ

  • ตรวจเช็คและปรับตั้งมุมโทล้อหน้า (Toe Angle)
  • ............ เพื่อความสบายใจ ไปเสียเงินอีกสักหน่อย ก็คงจะรู้สึกดีขึ้น ไม่เช่นนั้น คงมีอะไร .... คาใจ
  • ขับรถไปขึ้นแท่นเพื่อตรวจเช็คและปรับมุมเลี้ยวของล้อและพวงมาลัย ซึ่งต้องไปที่ร้านที่มีเครื่องมือทันสมัย


    หมายเหตุ ......
    ถ้าเรารักษาความยาวของคันส่งไว้คงที่ ตามที่แนะนำตั้งแต่ต้น คือ ไม่ทำให้เกลียวปรับความยาวของคันส่งเคลื่อนไปจากเดิม มุมโทของล้อหน้าก็จะคงเดิม หรือใกล้เคียงของเดิมตอนก่อนซ่อมมาก ๆ สามารถใช้รถได้ ถ้าไม่รู้สึกว่าผิดปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องไปปรับตั้งมุมโทก็ได้
  • ติดตั้งอุปกรณ์ที่ล้อทั้งสี่
  • ใช้เครื่องไฮดรอลิค เขย่ารถขึ้นลง หมุนล้อหน้าไปมา
  • เรียกหาสเปกของ BMW E34 525
  • เครื่องรายงานทางจอมอนิเตอร์ มุมโท (Toe Angle) ล้อหน้าด้านซ้าย ได้สีแดง - 0.9 mm. ผิดสเปกไปหน่อย
  • ล้อหน้าด้านขวาพอใช้ 0.3 mm. ยังอยู่เขตสีเขียว
  • ช่างทำการปรับเกลียวของคันส่งทีละข้าง ปรับข้างขวา แล้วไปปรับข้างซ้าย เพื่อให้มุมโทดีที่สุด เป็น 0 หรือใกล้ 0 อยู่ในเขตสีเขียว
  • ผลภายหลังการปรับเกลียวคันส่ง ล้อด้านขวาได้ 0 ล้อด้านซ้ายได้ -0.1 mm.
  • เราอยากได้ 0 ทั้งสองข้าง แต่ช่างเขาบอกว่าทำยาก จึงพอแค่นี้


    ครบถ้วน กระบวนการ เปลี่ยนลูกหมากคันส่งพวงมาลัย แล้ว ...... สบายใจ
  • บันทึกเลขระยะทาง และ วัน เดือน ปี ที่ซ่อม

  • สรุปผลหลังการทดลองใช้ 10,000 km.
    อยากรู้มาก.... ว่า ลูกหมากที่ซ่อม .... จะปลอดภัยไหม .... จะใช้ได้สักกี่น้ำ ... จะใช้ได้ทนไหม ... จะใช้ได้นานไหม ... จะคุ้มไหม .....

  • หลังจากซ่อมลูกหมากคันส่งแล้ว ผลการใช้งาน พวงมาลัยแน่น ตึง อย่างรู้สึกได้ว่า ดีกว่าเดิมมาก ๆ ก็ใช้งานไปเรื่อย ๆ พอถึงระยะ 10,000 กิโลเมตร มีโอกาสถอดลูกหมากคันส่งพวงมาลัย เพื่อตรวจให้หายสงสัย ว่าของที่ซ่อมมาหลวมหรือยัง

  • วิธีตรวจ ใช้วิธีจับตัวคันส่งเขย่าดูว่าหลวมไหม หลังจากนั้นถอดน๊อตลูกหมากออกข้างหนึ่ง จับคันส่งให้โด่ค้างไว้ หลาย ๆ ตำแหน่ง ถ้าคันส่งค้างโด่คงที่ (แบบไอ้นั่น) อยู่กลางอากาศได้ ไม่อ่อนตัว ไม่เอาอีกปลายหนึ่งทิ่มลงข้างล่าง แปลว่า... ฤทธิ์ยาไวอากร้า...ยังไม่หมด ขออภัย ...แปลว่าลูกหมากยังไม่หลวม ยังโอเค ยังใช้งานได้ดี สบายใจได้

  • ถ้าจับคันส่งขึ้นไว้ระดับหนึ่ง คันส่งรักษาระดับไม่ได้ ไม่ยอมโด่ว่างั้นเถอะ อ่อนเนาะแนะ ปวกเปียก เอาปลายหนึ่งทิ่มลงล่าง แบบนี้หมดสมรรถนะ ยูสเซอร์ไม่ค่อยจะแฮปปี้ คือลูกหมากหลวม ถ้าหลวมไม่มากก็พอใช้ได้ไประยะหนึ่ง ถ้าหลวมโครกก็ต้องรีบซ่อมหรือเปลี่ยนใหม่

  • จับคันส่งขึ้น ค้างไว้ระดับหนึ่ง แล้วปล่อยมือ

    1. ถ้าคันส่งค้างอยู่ในระดับเดิม ทิ้งไว้นานก็นิ่งอยู่ที่เดิม คือ ลูกหมากคันส่งดี แน่น ไม่หลวม


    ผลการตรวจ เจ้า E34 ของผม หลังจากซ่อมและใช้งาน หนึ่งหมื่นกิโลเมตร ได้ตามข้อ 1. ถือว่า พอใจครับ
  • 2. ถ้าปลายคันส่งค่อย ๆ ทิ่มลงล่างอย่างช้า ๆ นิ่มนวล สภาพของลูกหมากพอใช้ได้ ยังไม่หลวม
    3. ถ้าจับคันส่งขึ้น พอเราปล่อยมือ ปลายคันส่งตกทิ่มลงทันที อย่างรวดเร็ว คือ ลูกหมากหลวม ให้ลองโยกแกนลูกหมากดู น่าจะหลวมมากแล้ว

  • สรุปค่าใช้จ่าย
    สรุปค่าใช้จ่ายการซ่อมลูกหมากคันส่งพวงมาลัย

    เป็นราคาแบบ DIY ทำด้วยตัวเอง ถอดประกอบชิ้นส่วนด้วยตัวเอง ไม่คิดค่าแรงถอดและค่าประกอบคืน จึงเป็นค่าจ้างโรงกลึงซ่อมลูกหมาก ค่ายางกันฝุ่น และค่าจ้างปรับตั้งมุมล้อ ดังนี้
    1. ค่าซ่อมลูกหมากคันส่งตัวข้าง ลูกหมาก 4 ตัว ตัวละ 100 บาท เป็นเงิน 400 บาท
    2. ค่าซ่อมลูกหมากคันส่งตัวกลาง 2 ตัว ตัวละ 150 บาท เป็นเงิน 300 บาท
    3. ค่ายางกันฝุ่นลูกหมากคันส่งตัวกลาง 2 ตัว ตัวละ 20 บาท เป็นเงิน 40 บาท
    4. ค่าขึ้นแท่น ปรับตั้งมุมโท (toe angle) ล้อหน้า 200 บาท

    รวม 940 บาท ถ้ารวมค่าสีสเปรย์ และค่ายางกันฝุ่นของลูกหมากตัวข้างด้วย ก็ ประมาณ 1,000 บาท

    หมายเหตุ .... ค่าถอดลูกหมากของผมแพงหน่อย เพราะไปซื้อเครื่องมือมาเพิ่มหนึ่งตัว 1,500 บาท เบ็ดเสร็จค่าใช้จ่ายในการซ่อมลูกหมากคันส่งพวงมาลัย 2,500 บาท ... ครับ


    ทางเลือก .....
    กรณีที่ไม่อยากซ่อมลูกหมากคันส่งพวงมาลัย
    มีทางเลือกอื่น คือ อาจใช้อะไหล่ใหม่ ของเทียบ หรือของแท้ หรือ ของเก่าเชียงกง

    ซื้ออะไหล่ใหม่ ลูกหมากคันส่งตัวนอก ซ้าย-ขวา แบบนี้ จำนวน 4 ตัว มาเปลี่ยนแทนของเดิม

    หรือ ซื้อเป็นชุดคันส่งตัวนอก แบบนี้ 2 ชุด มีลูกหมาก แกน และน๊อต เรียบร้อย ก็สะดวก

    ตัวนี้ เป็นคันส่งตัวกลาง มีลูกหมาก 2 ข้างอยู่ในตัว ต้องซื้อทั้งชุด


    ราคา ถูก-แพง อย่างไร ลองสืบ ๆ เปรียบเทียบราคา ดูข้อดีข้อเสีย ดูเงินในกระเป๋าและความสะดวก พอใจแบบไหน ก็เลือกได้ ... ครับ

    สำหรับผม เลือกการซ่อมลูกหมาก แบบโลเทค แบ .... กะดิน ครับ .... โน พรอเบลม



    ขอให้ทุกท่านโชคดี ...........ขับขี่รถ ปลอดภัย ทุกสถานการณ์
    มีความสุข ในชีวิต และ ในการ D.I.Y. BMW E34 นะครับ





    Homepage of GRANDFATHER : Assoc.Prof.BOONCHAT NETISAK
    Copyright © by BOONCHAT NETISAK, All Rights Reserved.


    [ BMW E34 DIY MAIN MENU ]