BMW 525i (E34) DIY
Do it yourself by GRANDFATHER (Assoc.Prof. Boonchat Netisak)

การเปลี่ยนพัดลมไฟฟ้าหน้ารถ
BMW E34 Electric Fan Replacement.
l l MAIN MENU โดย คุณปู่ บุญชัด เนติศักดิ์ l

      พัดลมไฟฟ้าหน้ารถ BMW E34

    พัดลมไฟฟ้าหน้ารถ BMW E34 เป็นพัดลมขนาดใหญ่ มีใบพัดบางๆ 10 ใบ ติดตั้งอยู่หน้าแผงระบายความร้อนคอนเดนเซอร์แอร์ หลังกระจังหน้า ตรงช่องรูจมูกบิ๊กโนส ของ E34

    หน้าที่ของพัดลมไฟฟ้า คือ ดูดลมจากหน้ารถให้ผ่านรังผึ้งของแผงแอร์ ผ่านรังผึ้งของหม้อน้ำ เพื่อระบายความร้อนออก ให้น้ำยาแอร์และน้ำในหม้อน้ำเย็นตัวลง เป็นพัดลมเสริมการระบายความร้อน ไม่ทำงานตลอดเวลา (พัดลมหลัก คือพัดลมหน้าเครื่อง ที่หมุนโดยสายพาน ซึ่งทำงานตลอดเวลาที่ติดเครื่องยนต์)

    การทำงานของพัดลมไฟฟ้า มีความสัมพันธ์โดยตรงกับระบบที่ควบคุมให้พัดลมทำงาน 2 ระบบ คือ
    1) ระบบปรับอากาศ (แอร์)
    2) ระบบระบายความร้อนเครื่องยนต์ หรืออุณหภูมิของน้ำในหม้อน้ำ

  • ขณะที่ติดเครื่องยนต์ จอดเดินเบาไว้ หรือขับขี่รถปกติ ไม่เปิดแอร์ และน้ำในหม้อน้ำมีอุณหภูมิต่ำกว่า 91 องศาซี พัดลมไฟฟ้าจะยังไม่ทำงาน คือ พัดลมไฟฟ้ายังไม่หมุน

  • ถ้าเปิดแอร์ พัดลมไฟฟ้าจะหมุนที่สปีด Lo ทันทีที่คอมเพรสเซอร์แอร์ทำงาน และจะหยุดหมุนเมื่อคอมเพรสเซอร์แอร์ตัด ตรงนี้เพื่อระบายความร้อนน้ำยาแอร์ ทำให้แอร์เย็น ถ้าระบายความร้อนได้ดี ประสิทธิภาพของระบบปรับอากาศก็จะสูง .... แอร์จะเย็นฉ่ำ

  • เมื่อเครื่องยนต์ทำงานจนน้ำในหม้อน้ำมีความร้อนสูงกว่า 91 องศาซี พัดลมจะหมุนที่สปีด Lo และถ้าความร้อนเพิ่มขึ้นจนถึง 99 องศาซี พัดลมจะหมุนที่สปีด Hi คือหมุนเร็วมาก ดูดลมเข้าแรง เพื่อระบายความร้อนให้ทัน ตรงนี้พัดลมทำงานตามอุณหภูมิของน้ำในหม้อน้ำ

  • โดยทั่วไปพัดลมจะทำงานในสปีด Lo คือหมุนปกติ ส่วนการหมุนเร็วในสปีด Hi ไม่ค่อยจะเกิดบ่อย อาจจะเกิดขึ้นได้ในเดือนเมษายน ที่อากาศภายนอกร้อนมากๆ หรือกรณีรถติด รถวิ่งช้า ระบบน้ำระบายความร้อนบกพร่อง ก็อาจทำให้อุณหภูมิขึ้นถึง 99 องศาซี พัดลมก็จะหมุนในสปีด Hi

  • ถ้าอากาศภายนอกสบายๆ อากาศไม่ร้อน แต่พัดลมหมุนสปีด Hi น่าจะมีความบกพร่องของระบบระบายความร้อน เช่น น้ำแห้ง ปั๊มน้ำเสีย รังผึ้งหม้อน้ำอุดตัน เป็นต้น ซึ่งควรดูที่เข็มวัดอุณหภูมิน้ำที่หน้าปัดประกอบ ระดับที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 11-12 นาฬิกา บ่ายนิดหน่อยก็ยังปลอดภัย ถ้าเข้าเขตสีแดงต้องจอด ดับเครื่องด้วยนะครับ ด่วน .... แก้ไขให้ดี จึงจะไปต่อได้

    สาเหตุที่เปลี่ยนพัดลมไฟฟ้า รถ E34 ของปู่ พัดลมไฟฟ้าหมุนใช้งานได้ แต่มีเสียงดังมาก ดังแบบเหล็กเสียดสีกัน สตาร์ทเครื่องตอนเครื่องเย็นไม่ดัง วิ่งสักพักพอเครื่องร้อนจะดังมากๆ ไม่ได้ถอดออกดู แต่ประมาณว่า ระบบการหมุนจะบกพร่อง เช่นลูกปืนอาจขาดการหล่อลื่น หรือแตก ชำรุด ประกอบกับอายุนานมากแล้ว จึงตัดสินใจเปลี่ยน แบบใช้ของใหม่แทน เป็นของใต้หวันผลิต ราคาไม่แพง




    พัดลมไฟฟ้า ของ MBW E34



    ลองติดตามอ่าน DIY เพจนี้ดู ได้ลงรูปและเนื้อหาไว้อย่างละเอียดแล้ว



   No problem, We can do, Please continue ............ this DIY.
   [ upLoad on 18/03/2012 ]


ทำความเข้าใจโครงสร้างพัดลมไฟฟ้า ....... หน้ารถ BMW E34 ตัวเก่าที่เสียแล้ว
  • พัดลมไฟฟ้า ตัวเก่า ที่เสียแล้วถอดออกมา เป็นพัดลมไฟฟ้าหน้ารถ BMW E34 ตัวดั้งเดิม ที่ติดมากับรถจากโรงงานประกอบ ตั้งแต่เมื่อ เดือน 12/1995
  • ที่มันเสีย คือ การหมุน เมื่อเราลองเอามือหมุนใบพัดจะฝืดมาก ตอนแรกที่จะเสียเวลาทำงานหมุนมีเสียงดัง ตอนหลังไม่หมุนเลยเพราะฟิวส์ หมายเลข 25 ขาด
  • ตรงกลางแกนกะโหลกใบพัดเขียนไว้ PATENT PENDING
  • ดูท่าเขาหวงเหมือนกัน เรื่องสิทธิบัตรของพัดลมนี้ แต่ก็เกิน 15 ปีมาแล้ว
  • เดี๋ยวดูพัดลมของใต้หวันกันบ้าง โคลนนิ่งออกมาเหมือนกันเป๊ะ
  • อยากดูข้างใน ว่าเป็นยังไง
  • แกะคลิปล็อกแกนกลางออก เพื่อเอาใบพัดลมออก
  • ถอดใบพัดลมออกมาแล้ว ตรงกลางกะโหลกที่ครอบไว้ ป้องกันน้ำเข้ามอเตอร์
  • น้ำฝนหรือน้ำอย่างอื่นที่ลอดกระจังหน้า ผ่านรูจมูกของ E34 เข้าไปจะไม่ถูกตัวมอเตอร์
  • นี่เป็นตัวมอเตอร์ ติดอยู่กับโครงด้านหลังพัดลม มีลูกยางเพื่อติดตั้งอยู่รอบนอก 3 ตัว
  • มองทะลุเข้าข้าใน เห็นขดลวดทองแดงเส้นโต แสดงว่าพัดลมตัวนี้ต้องใช้กระแสไฟมาก และต้องหมุนแรง
  • ข้างตัวมอเตอร์ มีตรา BMW และผู้ผลิตคือ SIEMENS
  • ที่ขอบข้างหนึ่ง มีตัวต้านทาน หรือตัวรีซีสเตอร์ (Resistor) มีสายไฟ และปลั๊ก
  • ตัวรีซีสเตอร์ (Resistor) จะเรียกว่าตัวอาร์ (R) ก็ได้ครับ แต่ไม่ใช่คุณอา นะครับ
  • ตัวรีซีสเตอร์ มีไว้เพื่อทำให้พัดลมหมุนช้า ในสปีดโลว์
  • หน้าที่ของมันคือลดแรงดันไฟ หรือต้านกระแสไฟไว้บางส่วน เหลือไฟที่เข้าไปถึงพัดลมน้อยลง พัดลมจึงหมุนช้า
  • ถ้าตัว R นี้ขาด (ข้างใน) คือ R เสีย กระแสไฟจะเข้าไม่ถึงพัดลม พัดลมก็จะไม่หมุนในสปีดโลว์
  • นี่เป็นขั้วเสียบพัดลม อายุมากแล้ว ยังใช้ได้ โลหะมีความใส มีออกไซด์สีเขียวเล็กน้อย พลาสติกที่ยึดขั้วไฟฟาข้างในเริ่มแตกร้าว
  • แผ่นป้าย หรือเนมเพลต ข้างพัดลม บอกว่าทำในประเทศแคนาดา
  • ดูไว้แค่นี้ ให้พอเข้าใจโครงสร้างเบื้องต้น เป็นการเรียนรู้จากชิ้นส่วนอะไหล่เก่านะครับ ดีกว่าถอดทิ้งเฉยๆ
  • พัดลมไฟฟ้า ตัวใหม่ ...... ดูและชื่นชมหน่อย ก่อนติดตั้ง
  • พัดลมไฟฟ้าสั่งด่วน มาแบบ โอเวอร์ไนท์ เอกซ์เพรสส์ ด่วนพิเศษ สั่งของตอนบ่ายได้รับของวันรุ่งขึ้นตอนสายๆ
  • อาเฮีย คุยกัมผมตอนที่สั่งของว่า ตรงรุ่น BMW E34 รับรอง แต่เป็นของใต้หวันนะ .... จะเอาไหม
  • ผมยังไม่เห็นของ แต่ก็ไว้ใจเพราะซื้อกันประจำ ก็ OKAY สั่งมาหนึ่งตัว
  • ยี่ห้อ จานบิน ยูเอฟโอ UFO มันเป็นวัตถุบินลึกลับที่ยังอธิบายไม่ได้
  • ตรวจดูโดยรอบ มีส่วนประกอบ และขนาด โครงสร้าง ถอดแบบ โคลนนิ่งออกมาจากตัวแม่ BMW 99%
  • ขนาดความโต ตำแหน่งน๊อตลูกยางที่ติดตั้ง 3 ตัว ตัวอาร์ (R) โลว์สปีด และปลั๊กไฟ ตรงกันทุกประการ
  • ตัวอาร์ (R) โลว์สปีด ลดกระแสไฟให้พัดลมหมุนสปีดโลว์
  • ปลั๊กไฟ 3 ขา เหมือนตามมาตรฐานของบีเอ็มดับเบิ้ลยู เสียบกับปลั๊กเดิมได้พอดี
  • แผ่นป้ายข้างตัวพัดลมบอกว่า ใช้กับ BMW อีสามสี่ ซีรี่ย์ห้า ปี 1989-1995
  • ผลิตเมื่อ ปี 2010 เดือน 8 วันที่ 12 ผ่านการตรวจคุณภาพแล้ว QC.
  • ผลิตในใต้หวัน เมดอิน TAIWAN
  • ที่ข้างกล่อง บรรทัดล่าง บอกว่าเป็นพัดลมระบายความร้อนของระบบปรับอากาศ
  • คือ พัดลมนี้จะติดตั้งระบายความร้อนหน้าแผงคอนเดนเซอร์แอร์ อยู่หน้ารถ
  • ด้านหลัง มีสายไฟสองเส้น สีฟ้ากับสีน้ำตาล ขนาดความโตเท่ากับของ BMW แต่การต่อสายมีรอยบัดกรี มีตะกั่วโผล่ให้เห็นที่ด้านหลัง
  • ของ BMW จะปิดมิดชิดกว่า ไม่มีขั้วไฟโผล่ให้เห็น
  • ตรงนี้แหละ .... ที่ว่า ทำได้ไม่ดีเท่าของ BMW ตัวเดิม แต่ก็แก้ไขได้โดยใช้ซิลิโคนดำ ทาหุ้มขั้วไฟฟ้าไว้
  • ด้านหน้า ตรงกลางกะโหลก ใช้แหวนตัวล็อกแกน เหมือนกันกับของบีเอ็มดับเบิ้ลยู ลองหมุนใบพัดดูแล้ว หมุนได้คล่องดีมาก
  • บนกะโหลก มีลูกศรบอกทิศทางการหมุนเช่นเดียวกับของบีเอ็ม E34
  • แต่ไม่มี PATENT PENDING
  • ลูกยางกันสั่น และน๊อตยึด ขนาดและตำแหน่งตรงกับ E34 พอดี
  • แกะตัวรีซีสเตอร์ หรือตัวต้านทาน (R) ออกมาดู ค่าที่ใช้คือ 0.3 โอห์ม
  • พอดีว่าที่บ้านมีซิลิโคนขาว ที่ช่วยระบายความร้อนอยู่ จะเอามาใช้ทาที่ตัว R ให้ระบายความร้อนลงแผ่นเหล็กได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • ส่วนขวดสีแดง เป็นน้ำยาล็อกเกลียว ใช้ทาเกลียวกันไม่ให้สกรูที่ยึด R คลาย


    หมายเหตุ
    ซิลิโคนระบายความร้อนเป็นแบบที่ใช้ระบายความร้อนของไอซี - ทรานซิสเตอร์ ซื้อได้ที่ร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
  • ทาซิลิโคนที่ด้านหลังของตัว R แล้วขันติดกับแผ่นเหล็ก ซิลิโคนจะถูกอัดกระจายทั่วระหว่าง R กับแผ่นเหล็ก เป็นการช่วยระบายความร้อนจากตัว R ไปแผ่นสู่เหล็กได้ดีขึ้น (เพิ่ม Heat Transfer)
  • ซิลิโคนที่ล้นออกมา เช็ดทำความสะอาด
  • ตรงนี้อาจจะเว่อร์ไปนิดหน่อย แต่ก็อยากทำครับ ก็เลยทำ (ไม่ต้องแบบผม นะครับ ... เว่อร์)
  • ขั้นตอนการเปลี่ยนพัดลมไฟฟ้า
  • ถอดกันชนด้านหน้า [ ถอดไม่เป็น คลิก เข้าไปดู การถอดกันชนหน้า ]
  • ถอดกระจังหน้า (ไตคู่ - รูจมูก) [ ถอดไม่เป็น คลิกเข้าไปดู การถอดกระจังหน้า ]


    หมายเหตุ
    กรณีถอดเฉพาะกันชน แต่ไม่ถอดกระจังหน้า การถอดใส่น๊อตตัวบนจะทำยาก
  • เครื่องมือที่ใช้ในการถอด และใส่พัดลม
  • ประแจ ขนาด 8 ม.ม. 1 ตัว
  • เริ่มถอดพัดลม ดูตรงขอบพัดลมที่มีลูกยางรองน๊อตยึดไว้ 3 จุด
  • เริ่มถอดจากน๊อตตัวล่าง จะง่ายที่สุด ประแจที่ใช้ เบอร์ 8 ม.ม.
  • คลายน๊อตออก เอาน๊อตและแหวนรองออกมาด้วย
  • ถอดน๊อตตัวที่สอง ด้านขวา มีที่โล่งพอทำงานได้
  • และตัวที่สามอยู่ด้านบน พื้นที่อาจแคบไปนิด แต่ก็พอทำได้
  • เอาน๊อตและแหวนออกทุกตัว ตัวโบลต์ยังติดยู่กับลูกยาง
  • ถอดปลั๊กพัดลม
  • ค่อยๆ ดึงพัดลมออมาด้านหน้า เน้นดึงตรงลูกยางทั้ง 3 จุด เมื่อลูกยางหลุดออกจากเหล็กรอง พัดลมก็จะออกมาได้
  • พัดลมหนักเหมือนกัน จับให้มั่นคงนะครับ อย่าให้กระแทกแผงแอร์
  • ไหนๆ ก็ถอดข้าหน้าโล่งแล้ว ควรทำความสะอาดแผงคอนเดนเซอร์แอร์ไปในคราวนี้เลย
  • ใช้โบลเวอร์เป่าลมไล่ฝุ่นผงหน้าแผง ใช้น้ำฉีดเข้าไปล้างที่ครีบ
  • แล้วเป่าลมไล่น้ำออกจากหน้าแผงคอนเดนเซอร์แอร์ จนแผงคอนเดนเซอร์แห้ง พร้อมที่จะติดตั้งพัดลมต่อไป
  • ลองเทียบกัน พัดลมตัวเก่ากับตัวใหม่
  • ต่อไปนี้ เป็นขั้นตอนการติดตั้ง
    โปรดอ่านให้เข้าใจก่อนลงมือทำ



  • พัดลมตัวใหม่พร้อมแล้ว จะติดตั้งเข้าไป (ทำได้หลายวิธี) แต่ขั้นตอนต่อไปนี้ เป็นวิธีที่ ปู่ ทำ
  • ถอดน๊อตตัวบน(1)ออก และเอาลูกยางออกมาจากรูยึดที่ตัวพัดลม แล้วเอาลูกยางใส่เข้ากับเหล็กยึดด้านบนหน้าหม้อน้ำ
  • น๊อตตัวขวา(3) กับตัวล่าง(2) คลายออกให้หลวม โดยให้น๊อตกับลูกยางคาอยู่อย่างนั้น
  • หากระดาษทิชชูยัดดันหัวโบลต์ตัวบน(1)ให้ปลายโบลต์โผล่ไว้ จะได้แหย่เข้าลูกยางสะดวก
  • เอาพัดลมเข้าไปติดตั้ง โดยแหย่โบลต์ตัวบน(1) เข้าไปในรูของลูกยางที่ติดตั้งกับเหล็กยึดด้านบนไว้แล้ว พอโบลต์ทะลุลูกยางก็ใส่แหวนและน๊อต พยุงตัวพัดลมไว้ ยังไม่ต้องขันแน่น
  • ลูกยางตัวล่าง(2) กับตัวขวา(3) (ที่มีโบลต์และน๊อตใส่คาอยู่หลวมๆ) ให้ค่อยๆ ดันเข้าไปที่เหล็กยึด ใช้น้ำลูบที่ลูกยางจะช่วยให้เข้าร่องเหล็กยึดได้ง่าย
  • ตรวจดูจนแน่ใจว่าว่าดันลูกยาง เข้าร่องสนิทดีแล้วทั้ง 3 ตัว ใช้นิ้วคลำดูระยะห่างพัดลมกับคอล์ยร้อนให้เท่าๆ กันทุกด้าน ขันน๊อตยึดพัดลมทั้ง 3 ตัวให้แน่น
  • ลักษณะของลูกยางที่เข้าร่องเหล็กยึดสมบูรณ์
  • ลูกยางตัวบน
  • ลูกยางตัวล่าง
  • ลูกยางตัวข้างขวา
  • เมื่อขันน๊อตทั้ง 3 ตัวแน่นดีแล้ว ต่อไปเสียบปลั๊กพัดลม ตรวจการเสียบให้เข้าสุด และแน่นดี
  • ตรวจเก็บ มัดสายไฟให้เรียบร้อย ไม่แกว่งหรือสีกับใบพัด
  • ตรวจสอบทดลองการหมุนของพัดลม โดยการจั๊มสายไฟที่ปลั๊กสวิตช์อุณหภูมิหม้อน้ำ ตามวิธีที่แนะนำไว้ในเพจ การตรวจเช็คพัดลมไฟฟ้า [ Click ]
  • เมื่อพัดลมทำงานดี ครบทั้งสองสปีด ก็ใส่กระจังหน้า ใส่กันชนหน้า ให้เหมือนเดิม
  • เป็นอันว่าการเปลี่ยนพัดลมไฟฟ้าหน้ารถ ของเราก็เสร็จเรียบร้อย แต่เพียงเท่านี้ครับ .... เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้

  • ข้อสังเกต หลังการติดตั้งพัดลมตัวใหม่
      หลังการติดตั้ง สิ่งที่สังเกตได้ คือ
    • พัดลมตัวใหม่จะหมุนนิ่มนวลมาก เสียงไม่ดัง พอคอมแอร์ตัดจะไม่หยุดหมุนทันที แต่มันยังหมุนฟรีด้วยแรงเฉื่อยไปอีกตั้งนาน
    • พัดลมตัวเก่า ตอนหมุนจะมีเสียงดัง และตอนที่คอมแอร์ตัด มันจะหยุดหมุนทันที ( แบบหยุด ... กึก )
    • ความเย็นของแอร์ดีขึ้น และดูเหมือนว่าคอมเพรสเซอร์จะทำงานน้อยลง แมกเนติกคลัชตัดการทำงานของคอมเพรสเซอร์เร็วกว่าเดิม


    ขอให้ทุกท่านโชคดี ...........ขับขี่รถ ปลอดภัย ทุกสถานการณ์
    มีความสุข ในชีวิต และ ในการ D.I.Y. BMW E34 นะครับ





    Homepage of GRANDFATHER : Assoc.Prof.BOONCHAT NETISAK
    Copyright © by BOONCHAT NETISAK, All Rights Reserved.


    [ BMW E34 DIY MAIN MENU ]